ความคิดเห็น
ผู้ว่าฯ ระยอง พบปะประชาชนทางออนไลน์ในวันเปิดประเทศนำร่องเพื่อการท่องเที่ยว
การอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กำลังจะกลายเป็นสโลแกนเก่า เพราะรัฐบาลกำลังจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้า ให้พี่น้องประชาชนกลับมาทำมาประกอบอาชีพให้ใกล้ปกติมากที่ และจังหวัดระยองของเราก็เป็นหนึ่งใน 17 จังหวัด “พื้นที่สีฟ้า” เริ่มนำร่องให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติไปเที่ยวได้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
เมื่อทุกคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในวันนี้ เราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่ หรือ New Normal เพื่อให้เศรษฐกิจได้เดินหน้า ในขณะที่เรายังคงปลอดภัยจากโควิดโดยร่วมกันรณรงค์การป้องกันอย่างครอบจักรวาล โดยปฏิบัติตามมาตรการให้เคร่งครัดยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเว้นระยะห่าง การใส่หน้ากาก การล้างมือ เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคหากเกิดการติดเชื้อ
ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคโควิด-19 ทั้ง 260 คน ข้อมูลที่สำคัญก็คือกว่าร้อยละ 90 ของผู้เสียชีวิตไม่ได้รับวัคซีน บางส่วนเหตุผลเนื่องมากจากกลุ่มคนดังกล่าวติดบ้าน ติดเตียง มีโรคประจำตัว หรือตั้งครรภ์ มีกิจวัตรประจำวันมีความเสี่ยงน้อยมากจึงอาจ ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้ว บุคคลกลุ่มดังกล่าว ติดเชื้อจากสมาชิกในครอบครัว ดังนั้น สมาชิกในครอบครัว จึงต้องช่วยกันดูแล เร่งพาพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และญาติพี่น้องที่มีความเสี่ยงสูงไปฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเกราะป้องกัน
อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า เมื่อโลกของเรามีวัคซีนเพียงพอ มียารักษาที่มีประสิทธิภาพกระจายไปอย่างทั่วถึง โรคโควิดจะเปลี่ยนจากโรคระบาด กลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งถึงเวลานั้น ประชาชนทุกคนจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคเองในขณะนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเร่งรณรงค์ให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมารับวัคซีน
เราเสียโอกาสในชีวิตไปหลายอย่างเพราะโควิด วันนี้ ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับปกติใหม่ หรือ New Normal ต้องหาเกราะให้ตัวเอง เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ และอยู่กับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัย
https://youtu.be/deuk9wUNkZk
ผู้ว่าฯ สุราษฎร์ธานี เปิดจวนมอบถุงยังชีพให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการ “ถุงปันสุข” ทุกวันอาทิตย์ ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (31ต.ค.64) ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายมนตรา พรมสินธุ ปลัดจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายกัมปนท กลิ่นเสาวคนธ์ นายอำเภอบ้านนาสาร สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอาสาสมัคร โดยมีประชาชนร่วมบริจาคสิ่งของอีกด้วย ได้แก่ ข้าวกล่อง ข้าวเหนียว น้ำดื่ม ผลไม้ ข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง และของเด็กเพื่อมอบให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามโครงการ “ตู้ปันสุข ” โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้จัดระเบียบแถวตามมาตรการด้าน สาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
โดยบรรยากาศในเข้าวันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ฝนตกลงมาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ยังคงเดินหน้ามอบถังปันสุขให้แก่พี่น้องประชาชน ที่ออกมารอรับสิ่งของ ที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ภาคส่วน ต่างๆ ได้จัดเตรียมไว้ให้
นายวิชวุทย์ จินโต ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับการจัดทำ “ถุงปันสุข” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ดำเนินการแจกจ่ายสิ่งของให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา หลังเกิดสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งมีประชาชนกลุ่มเปาะบาง และ ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ก็จะเดินทางมาเปิดตู้ปันสุข รับสิ่งของไปรับประทานทุกวัน ซึ่งการจัดทำตู้ปันสุข ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเหล่ากาชาดจังหวัดสุราษฎร์ธานี หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชน ในพื้นที่ซึ่งได้ร่วมกันนำสิ่งของมาร่วมสมทบเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนตลอดมา และบางส่วนก็นำอาหารกล่องปรุงสุกมาใส่ที่ตู้ปันสุขให้ประชาชนที่เดือดร้อนมารับไปใช้ในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และในช่วงที่สถานการณ์ โควิด-19 ระบาดขึ้นในละลอกใหม่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นวงกว้าง จึงได้ปรับแนวทางด้วยการมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนทุกวันอาทิตย์ ซึ่งการบริจาคสิ่งของในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและที่สำคัญช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้
#ข่าวภูมิภาค #กระทรวงมหาดไทย
ผู้ว่าฯ ตรัง ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมพ่อค้า-แม่ค้าในตลาดสดเทศบาลนครตรัง พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคโควิด -19 อย่างเคร่งครัด หลังเกิดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนในตลาด
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจเยี่ยมพ่อค้า-แม่ค้า ในตลาดสดเทศบาลนครตรัง พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันโรคโควิด -19 อย่างเคร่งครัด เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในหลายคลัสเตอร์ ทั้งคลัสเตอร์ตลาดสด ตลาดนัด จังหวัดตรัง จึงได้คุมเข้มตลาดนัด ตลาดสดในพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการจัดทำทะเบียนประวัติแม่ค้าทุกรายที่มาจำหน่ายสินค้าในตลาดแห่งนั้น พร้อมทำการตรวจหาเชื้อด้วยชุด Antigen test kit หรือ ATK ในทุกสัปดาห์ พร้อมติดบัตรประจำตัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าผ่านการตรวจแล้ว ผลเป็นลบ ขณะเดียวกัน ก็จะแยกคนติดเชื้อออกมาเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาและให้แม่ค้าทุกรายสวมถุงมือ นอกจากนี้ ยังได้คุมเข้มมาตรการต่าง ๆ ทางสาธารณสุข และให้ทางอำเภอได้จัดชุดปฏิบัติการ ลงพื้นที่ติดตาม ตรวจสอบ อย่างต่อเนื่อง หากพบการฝ่าฝืน สามารถใช้ดุลยพินิจในการสั่งปิดตลาดแห่งนั้นได้
สำหรับตลาดที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลนครตรัง ประกอบด้วย ตลาดสดเทศบาลนครตรัง ตลาดท่ากลาง ตลาดเซ็นเตอร์พ้อยซ์ ตลาดกองทุน และตลาดบ้านโพธิ์ ทางเทศบาลนครตรัง ได้กำหนดมาตรการลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับตลาดในเขตเทศบาลนครตรัง ดังนี้
1. ให้เจ้าของตลาด หรือผู้จัดการตลาดจัดทำบัญชีรายชื่อพ่อค้า/แม่ค้า หรือผู้ปฏิบัติงานในตลาดทุกคน รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย 2 โดยจัดส่งให้ศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคเทศบาลนครตรัง (ศปก.ทน.ตรัง) ภายใน 3 วันนับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้
2. ในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้เจ้าของตลาดหรือผู้จัดการตลาดคัดกรอง พ่อค้า/แม่ค้า หรือผู้ปฏิบัติงาน ในตลาดทุกคนด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kits (ATK) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และหากพบว่าผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก ให้แจ้งกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมโดยทันที และเข้ารับการกักตัวในชุมชน (Community Isolation : CI) ที่ทางราชการกำหนด
3. ให้พ่อค้า/แม่ค้า หรือผู้ปฏิบัติงานในตลาด สวมถุงมือตลอดเวลาที่ปฏิบัติงานและให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A (“รักษาระยะห่าง” “การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย” “การล้างมือ” “การตรวจวัดอุณหภูมิ” “การตรวจเชื้อโควิด-19” และ “การติดตั้งแอปพลิเคชั่นไทยชนะ/หมอชนะ” อย่างเคร่งครัด)
4. กำหนดให้มีทางเข้า-ออก ที่ชัดเจน และมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือคัดกรองอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ กรณีพบว่าบุคคลดังกล่าว มีอุณหภูมิตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ขึ้นไป หรือมีอาการระบบทางเดินหายใจ ห้ามให้บุคคลดังกล่าวเข้าในสถานที่ และแนะนำให้เข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการทางการแพทย์ใกล้บ้าน
5. ทำความสะอาด บริเวณพื้นตลาด แผงจำหน่ายสินค้า ด้วยน้ำยาทำความสะอาดเป็นประจำทุกวันหรืออาจใช้น้ำยาฆ่าเชื้อร่วมด้วย และทำความสะอาดตลาดตามหลักสุขาภิบาล อย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
6. บริเวณที่พักขยะ ต้องรวบรวมขยะไปกำจัดให้หมด และทำความสะอาด
7. ให้มีการประชาสัมพันธ์มาตรการของตลาดให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างสม่ำเสมอ
8.ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคตามที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคแนะนำหรือมาตรการที่จังหวัดตรังกำหนดอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด
ผวจ.ร้อยเอ็ด นำคณะตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ และมอบสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบอุทกภัย ในเขตพื้นที่อำเภอจังหาร
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย นางดนิตา สมจิตต์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร้อยเอ็ด , พลตรีวรเชษฐ์ ชวนะนรเศรษฐ์ ผู้บังคับบัญชามณฑลทหารบกที่ 27 , นายสนอง ดลประสิทธิ์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดร้อยเอ็ด , นายนิมิต ปัทมเจริญ นายอำเภอจังหาร หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ออกตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ ผู้ประสบภัยอทุกภัย ณ เขตพื้นที่อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมทั้งมอบสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 3 ตำบล ได้แก่ มอบรองเท้าบูท จำนวน 56 คู่ EMBALL ให้กับผู้ประสบภัยตำบลม่วงลาด , มอบรองเท้าบูท จำนวน 110 คู่ EMBALL ให้กับผู้ประสบภัยตำบลดงสิงห์ , มอบรองเท้าบูท จำนวน 74 คู่ EMBALL และสุขากระดาษให้กับผู้ประสบภัยตำบลดินดำ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดได้ประสบภัยอุทกภัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณตอนบนของลุ่มน้ำชีในวันที่ 23 - 25 ก.ย.64 ในเขต จังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น จึงทำให้ปริมาณน้ำในลำน้ำชีเอ่อล้นตลิ่งและไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำชีในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 64 เป็นต้นมา ส่งผลให้ขณะนี้มีน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรจำนวน 10 อำเภอ 41 ตำบล 302 หมู่บ้าน 9,199 ครัวเรือน มีนาข้าวได้รับผลกระทบ 77,034 ไร่ ประมง 555.25 ไร่ ปศุสัตว์ 32,924 ตัว และมีที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ 11 ตำบล 34 หมู่บ้าน 427 หลัง โดยท่วมบ้านเรือน รวม 276 ครัวเรือน แยกเป็นที่อำเภอจังหาร 238 ครัวเรือน อำเภอเชียงขวัญ 38 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 2 ราย พนังคันดินชำรุด 2 แห่ง คือ จุดบ้านดินแดง ตำบลดงสิงห์ และจุดบ้านเปลือยตาล ตำบลดงสิงห์ อำเภอจังหาร และขณะนี้ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเนินการเข้าไปให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวร้อยเอ็ดที่ประสบอุทกภัย
#ข่าวภูมิภาค #กระทรวงมหาดไทย
จังหวัดมหาสารคาม มอบถุงยังชีพกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม
วันนี้ (30 ต.ค. 64) นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ด้วยคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งว่าสืบเนื่องจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ทำให้มีฝนหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จึงได้ดำเนินการโอนเงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม จัดหาถุงยังชีพให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 300 ชุด ในราคาชุดละไม่เกิน 700 บาท เป็นเงิน 210,000 บาท ซึ่งจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบหมายที่ทำการปกครองจังหวัดมหาสารคาม (ฝ่ายการเงินและบัญชี) รับผิดชอบในการจัดหาถุงยังชีพผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จำนวน 300 ชุด โดยให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยในวันนี้ นายธรรมนูญ แก้วคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีมอบถุงยังชีพของ “กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี” ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1) บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลลาดพัฒนา จำนวน 114 ครัวเรือน 2) บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลบุ่งคล้า ตำบลลาดพัฒนา จำนวน 75 ครัวเรือน 3) บริเวณวัดวารินทราวาส บ้านท่าตูม ตำบลท่าตูม จำนวน 69 ครัวเรือน และ 4) บริเวณบ้านกุดเวียน ตำบลท่าตูม จำนวน 53 ครัวเรือน
ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2564 จังหวัดมหาสารคาม น้ำในแม่น้ำชีเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร ใน 5 อำเภอ 28 ตำบล 239 หมู่บ้าน ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย 13 ตำบล 102 หมู่บ้าน อำเภอกันทรวิชัย 7 ตำบล 79 หมู่บ้าน อำเภอเมืองมหาสารคาม 5 ตำบล 39 หมู่บ้าน อำเภอเชียงยืน 3 ตำบล 15 หมู่บ้าน และอำเภอกุดรัง 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน มีที่นาได้รับผลกระทบ 122,013 ไร่ พืชไร่ 187 ไร่ และมีหมู่บ้านถูกตัดขาด 2 อำเภอ 5 ตำบล 18 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลโพนงาม ตำบลยางท่าแจ้ง ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย และตำบลมะค่า ตำบลขามเรียง อำเภอกันทรวิชัย หมู่บ้านถูกตัดขาดต้องสัญจรด้วยรถยกสูงและเรือเท่านั้น สำหรับครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย จำนวน 2,298 ครัวเรือน รพ.สต. 3 แห่ง โรงเรียน 6 แห่ง วัด 9 แห่ง อำเภอกันทรวิชัย จำนวน 2,216 ครัวเรือน รพ.สต. 1 แห่ง โรงเรียน 5 แห่ง วัด 12 แห่ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จำนวน 1,388 ครัวเรือน วัด 18 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง อำเภอเชียงยืน จำนวน 1,204 ครัวเรือน และอำเภอกุดรัง จำนวน 42 ครัวเรือน
#ข่าวภูมิภาค #กระทรวงมหาดไทย