ความคิดเห็น
ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นพนักงานจ้างเหมาบริการเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการพัฒนาบุคลากร จำนวน 3 อัตรา
เมื่อวันที่ 3 - 7 พฤศจิกายน 2564 นายอสิ ม้ามณี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงและคณบดีสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีคณบดีและผู้อำนวยการวิทยาลัยการทูตและสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ครั้งที่ 47 (International Forum on Diplomatic Training (IFDT): The 47th Annual Meeting of Deans and Directors of Diplomatic Academies and Institute of International Relations) ที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี Anwar Gargash Diplomatic Academy (AGDA) กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นเจ้าภาพ และมีผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากสถาบันฝึกอบรมด้านการทูตและการต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และนักวิชาการด้านการทูตและการต่างประเทศจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ 50 คน จาก 30 ประเทศ เข้าร่วม
การประชุมฯ เน้นการอภิปรายเกี่ยวกับทิศทาง/แนวทางการพัฒนานักการทูตใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1) อนาคตทางการทูตภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 2) สตรีและการทูต 3) การทูตดิจิทัล 4) สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน: ความล้มเหลวของยุทธศาสตร์? 5) การปกครองระหว่างประเทศ และ 6) ข้อตกลงสันติภาพ “Abraham Accords” โดยมีผู้บริหาร/ผู้เชี่ยวชาญ/นักวิชาการจากสถาบันฝึกอบรมด้านการทูตและการต่างประเทศ และสถาบันทางวิชาการจากประเทศต่าง ๆ เป็นผู้ร่วมอภิปราย
ในช่วง IFDT Bazaar นายอสิฯ ได้นำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์/แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการจัดอบรมในรูปแบบ online/hybrid ตลอดจนแนวทางการฝึกอบรมและพัฒนานักการทูตของสถาบันการต่างประเทศฯ และได้หารือกับผู้บริหารสถาบันฝึกอบรมด้านการทูตและการต่างประเทศจากประเทศต่าง ๆ อาทิ Foreign Service Training Institute (FSTI) ของญี่ปุ่น, Center for Education and Training (CET) ของอินโดนีเซีย และ Centre for Political and Diplomatic Studies (CPDS) เพื่อแสวงหาลู่ทางการขยายความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ ได้หารือกับคณะกรรมการบริหารการประชุมฯ เรื่องการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม IFDT ครั้งที่ 49 ในปี 2566 (ค.ศ. 2023) ของสถาบันการต่างประเทศฯ
การประชุมฯ จัดขึ้นควบคู่กับงาน 2020 Dubai Expo ที่นครดูไบ โดยผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมบรรยากาศภายในงาน ตลอดจนการแสดงและนิทรรศการของประเทศต่าง ๆ รวมถึงจากประเทศไทยด้วย
การประชุมฯ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นเวทีพบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมิติการต่างประเทศ ตลอดจนแนวทางและนวัตกรรมในการฝึกอบรมนักการทูตให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการได้จัดการบรรยายออนไลน์หัวข้อ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการไปประจำการในต่างประเทศระดับเลขานุการและที่ปรึกษา ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 โดยได้รับความร่วมมือจาก ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนางสาวปฤณัต อภิรัตน์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมเป็นวิทยากรในการบรรยายดังกล่าว
การบรรยายในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ (1) ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) (2) การผลักดันให้ BCG เป็นกรอบแนวคิดในการทำงานของไทย ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และประชาสัมพันธ์กรอบแนวคิดดังกล่าวในเวทีโลก และ (3) การดึงดูดความร่วมมือจากประเทศต่าง ๆ ผ่านการส่งเสริม BCG เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมแก่ข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศเพื่อให้สานต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในเรื่องดังกล่าวในประเทศที่ตนจะไปประจำการต่อไป
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรข้าราชการแรกเข้ากระทรวงการต่างประเทศ ครั้งที่ 2 ปี 2564 โดยมีนางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ เปิดการอบรมและชี้แจงรายละเอียดของหลักสูตรฝึกอบรม รวมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์การเป็นข้าราชการ วัฒนธรรมองค์กรและการทำงานของกระทรวงฯ โดยเน้นย้ำถึงการปฏิบัติงานที่เกื้อหนุนกันในทุกสายงาน การสั่งสมความรู้ความเชี่ยวชาญในงาน และแนวทางการพัฒนาตนเองเพื่อสนับสนุนภารกิจด้านต่าง ๆ ของกระทรวงฯ
การฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2564 เป็นการอบรมแบบ onsite ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายลง และเป็นไปตามมาตรการของทางภาครัฐมีวัตถุประสงค์เพื่อปูพื้นฐานให้ข้าราชการแรกเข้าของกระทรวงฯ มีความรู้ความเข้าใจในภารกิจขององค์กรและหน้าที่ของตนนับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน ปลูกฝังปรัชญาการเป็นข้าราชการที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม และทัศนคติที่ดี ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงานเบื้องต้น และเป็นไปตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ว่าด้วยการพัฒนาข้าราชการที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ
ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ข้าราชการสายงานต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 20 คน โดยเป็นข้าราชการสายงานการทูตที่เป็นนักเรียนทุนของกระทรวงฯ จำนวน 1 คน และข้าราชการสายสนับสนุนปฏิบัติงานในประเทศ จำนวน 19 คน
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2564 สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมข้าราชการไปประจำการในต่างประเทศ ระดับเลขานุการและที่ปรึกษา พร้อมทั้งคู่สมรส ครั้งที่ 2 ประจำปี 2564 โดยมีนายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และมอบโอวาท พร้อมทั้งบรรยายและถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ “บทบาทหน้าที่การเป็นผู้แทนไทย และภารกิจทีมประเทศไทย”
ก่อนพิธีเปิดการอบรม นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการได้กล่าวรายงานและชี้แจงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่เน้นการเตรียมความพร้อมแก่ข้าราชการที่จะไปประจำการในต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนทางการทูตและตัวแทนประเทศไทย การเสริมองค์ความรู้และทักษะเพื่อการปฏิบัติงานทางการทูต ความรู้เกี่ยวกับประเทศไทยและประเทศประจำการ นโยบายและยุทธศาสตร์ต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ในงานบริหารสำนักงานในต่างประเทศ
หลักสูตรฝึกอบรมดังกล่าว มีขึ้นระหว่างวันที่ 18 ตุลาคม - 11 พฤศจิกายน 2564 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 73 คน ประกอบด้วย (1) ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 52 คน และ (2) คู่สมรสที่จะติดตามไปประจำการ 21 คน
การฝึกอบรมข้าราชการไปประจำการในต่างประเทศ เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารราชการในต่างประเทศ พ.ศ. 2552 ข้อ 10 และข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการในต่างประเทศ สำหรับข้าราชการที่จะไปดำรงตำแหน่งประจำการในต่างประเทศ และคู่สมรส พ.ศ. 2554
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการได้จัดโครงการสถาบันฯ แบ่งปันความรู้ (DVIFA Sharing Knowledge) ครั้งที่ 2 เป็นการบรรยายพิเศษออนไลน์หัวข้อ “การออมและการลงทุน” โดยนายเกษตร ชัยวันเพ็ญ รองกรรมการผู้จัดการ และนายณัฐกิต การย์เกรียงไกร ผู้จัดการฝ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย จำกัด โดยมีนางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการกล่าวต้อนรับ
วิทยากรได้ให้ภาพรวมของการออมและการลงทุนประเภทต่าง ๆ วิธีวางแผนการใช้จ่าย การออม และการลงทุนอย่างเป็นระบบ การลดความเสี่ยงทางการเงินและการลงทุน ตลอดจนการจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นคงให้แก่ข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงการต่างประเทศในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายพิเศษหัวข้อดังกล่าวกว่า 30 คน
ในช่วงท้าย ผู้เข้ารับฟังการบรรยายได้ให้ความสนใจซักถามเกี่ยวกับการลงทุนประเภทต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก โดยวิทยากรได้ตอบคำถามและแบ่งปันประสบการณ์ โดยเน้นย้ำความสำคัญของการวางแผนด้านการออมและการลงทุนแต่ละประเภทอย่างเป็นระบบ
สถาบันการต่างประเทศฯ ได้ดำเนินโครงการ “สถาบันฯ แบ่งปันความรู้ (DVIFA Sharing Knowledge)” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะให้แก่ข้าราชการและบุคลากรในกระทรวงฯ สร้างทัศนคติที่พร้อมจะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ของกระทรวงฯ ในฐานะองค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization) ซึ่งสถาบันการต่างประเทศฯ ได้ให้ความรู้ทั้งในด้านวิชาการ องค์ความรู้อื่น ๆ สำหรับการปฏิบัติงาน ตลอดจนองค์ความรู้เพื่อดูแลตนเองและครอบครัวในด้านต่าง ๆ ด้วย
เมื่อวันศุกร์ที่ 17 กันยายน 2564 นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีปิดการฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.) รุ่นที่ 13 ปี 2564 ซึ่งจัดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยที่ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในโอกาสนี้ ประธานได้กล่าวให้โอวาทและแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการฝึกอบรม โดยร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมรวมทั้งสิ้น 46 คน และการรับโล่รางวัลรายงานการศึกษาส่วนบุคคลระดับดีเด่นแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมจำนวน 5 คน พร้อมปิดการฝึกอบรมในรุ่นนี้
ในช่วงพิธีการ นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ ได้กล่าวรายงานสรุปการดำเนินการจัดการฝึกอบรม โดยมีนายชุตินทร คงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ นายอสิ ม้ามณี เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ร่วมเป็นเกียรติในพิธี
การฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการทูต (นบท.) รุ่นที่ 13 นี้ จัดขึ้นตามกรอบมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรมนักบริหารระดับสูงที่ได้การรับรองจากสำนักงาน ก.พ. ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 17 กันยายน 2564 รวมระยะเวลา 12 สัปดาห์ มีผู้เข้ารับการฝึกอบรม 46 คน ประกอบด้วย ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ จำนวน 23 คน ข้าราชการและผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีสำนักงานในต่างประเทศในฐานะทีมประเทศไทยหรือมีภารกิจด้านการต่างประเทศ จาก 12 หน่วยงาน จำนวน 23 คน
สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการได้จัดการฝึกอบรมภายใต้ข้อจำกัดของสถานการณ์โควิด-19 ด้วยรูปแบบและวิธีการแบบผสมผสานทั้งผ่านระบบออนไลน์และที่สถาบันการต่างประเทศฯ ประกอบด้วย การจัดบรรยาย อภิปราย และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง โดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มีการศึกษาวิจัยพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางตามประเด็นยุทธศาสตร์ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)” แบบ Action Learning ผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมการศึกษา จัดทำรายงาน และจัดเสวนาในหัวข้อ “การศึกษา Best Practices ของประเทศต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน BCG Model” ซึ่งเป็นกิจกรรมทดแทนการศึกษาดูงานในต่างประเทศ รวมถึงการศึกษาวิจัยส่วนบุคคล (Individual Study - IS) การประเมินบุคลิกภาพ วิสัยทัศน์และสมรรถนะนักบริหารการทูต และการจัดทำแผนพัฒนาตนเองรายบุคคล
ในโอกาสปิดการฝึกอบรมครั้งนี้ นางฉันทนี บูรณะไทย นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ กรมปศุสัตว์ ได้เป็นตัวแทนผู้เข้ารับการฝึกอบรมกล่าวถึงความประทับใจในการเข้าร่วมหลักสูตรนักบริหารการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ความรู้สึกที่ดีต่อการบริหารจัดการหลักสูตรฯ มิตรไมตรีและความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งการได้พบเพื่อนข้าราชการจากหลากหลายหน่วยงานนั้นจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญยิ่งในการสร้างเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศ ซึ่งจะส่งเสริมการทำงานแบบบูรณาการอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต