Clicky

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีภารกิจในการรวบรวม เก็บสงวนรักษา และให้บริการเอกสารจดหมายเหตุ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประจักษ์พยานแสดงและอธิบายถึงข้อเท็จจริง รวมทั้งความเป็นมาที่เกิดขึ้นในอดีต เอกสารจดหมายเหตุเหล่านี้ได้รับการเก็บรักษาและอนุรักษ์ไว้ให้มีสภาพสมบูรณ์ หรือเกิดความชำรุดเสียหายน้อยที่สุด เพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ

เปิดเหมือนปกติ

70 ปี 70 เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : โถยาคู-----------------------------------พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว...
21/10/2022

70 ปี 70 เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : โถยาคู
-----------------------------------

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายคำว่า ‘ยาคู’ ไว้ว่า “(1) น. ข้าวต้ม (ป.). (2) น. เรียกขนมชนิดหนึ่งทำด้วยข้าวอ่อน ว่า ข้าวยาคุ หรือ ข้าวยาคู

คำว่า ยาคู มาจากภาษาบาลีว่า ยาคุ ข้าวยาคูมีลักษณะแบบเดียวกับข้าวต้ม ในสมัยพุทธกาลใช้ข้าวหรือธัญพืชชนิดอื่นแช่ในน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 16 จนเปลือกธัญพืชเหล่านี้อ่อนตัว แล้วเคี่ยวให้เหลือเพียงครึ่งเดียว มักเป็นอาหารที่ทำให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่หิวกระหายดื่ม ในวินัยปิฎกและพระสูตรอังคุตตรนิกาย (อ่านว่า อัง-คุด-ตะ–ระ-นิ-กาย) กล่าวว่าข้าวยาคูมีประโยชน์ 5 ประการ คือ ช่วยบรรเทาความหิว บรรเทาความกระหาย ทำให้ลมเดินสะดวก ช่วยชำระลำไส้ และช่วยย่อยอาหาร

ตามพุทธประวัติ กล่าวว่า พราหมณ์ผู้หนึ่งหุงข้าวยาคูและทำขนมหวานถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวกฉัน ขนมที่พราหมณ์ทำเป็นขนมหวาน ส่วนข้าวยาคูไม่มีรสหวาน”

เอกสารจดหมายเหตุที่จะนำเสนอเป็นรายการที่ 7 คือ เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 กระทรวงวัง รหัส ร.7 ว 5.2/26 เรื่อง พิธีสารท, ถวายโถยาคู [27 ก.ค. –15 ก.ย. 2470] [93 แผ่น] ใจความกล่าวถึงการพระราชพิธีสารท ในพ.ศ. 2470 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้จัดขึ้น เนื่องจากเป็นราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่ภายหลังได้งดและว่างเว้นไปนาน และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายใน รับรวงข้าวอ่อนไปทำเป็นยาคูบรรจุโถ เรียกว่า “โถยาคู” ทำด้วยฟักเหลือง ประดับประดาให้วิจิตรสวยงาม ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายภาพถ่ายแบบโถยาคูของเก่าซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นแบบโถยาคูในสมัยรัชกาลที่ 2 เนื่องจากสมัยนั้นนิยมเลียนแบบลายเส้นหรือลวดลายฝรั่ง เพื่อทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบกลับ ความว่า “ทราบแล้ว รูปโถยาคูเปนลายฝรั่งสมัย Early Victorian หรือก่อนนั้นนิดหน่อย คือ พวก Yearage Ⅲ หรือ Ⅳ แปลกดี แต่ไม่เห็นงาม”

พระราชพิธีสารท ในพ.ศ. 2470 จัดขึ้น 2 วัน คือ วันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2470 ตรงกับวันอาทิตย์แรม 15 ค่ำ เดือน 10 ปีเถาะ ตอนเย็นอาลักษณ์อ่านประกาศพระราชพิธีสารท พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่ง
อมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำสาวพรหมจารีที่เป็นราชอนุวงศ์ จำนวน 16 พระองค์ เช่น หม่อมเจ้าไตรทิพย์สุดา พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ หม่อมเจ้าเกษมเสาวภา พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ หม่อมเจ้าฤดีวรวรรณ พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ หม่อมเจ้าดวงจิตร พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ฯลฯ ทรงผ้าเยียรบับขาวจีบ สะพักตาดเครื่องขาว สวมมงคล กวนข้าวทิพย์ปายาส ณ สวนศิวาลัยในพระบรมมหาราชวัง

วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2470 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีเถาะ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรโถยาคู ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมหาราชวัง ทรงเลือกปักธงชื่อพระสงฆ์ตามพระราชประสงค์ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายโถยาคูและข้าวทิพย์ปายาสแด่พระสงฆ์ หลังเสร็จการพระราชพิธีเจ้าพนักงานจึงแจกข้าวทิพย์ปายาสพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทโดยทั่วกัน

หมายเหตุ : การสะกดคำยึดตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความ จะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้น ๆ

สืบค้นและเรียบเรียง : นางสาวดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ

#จดหมายเหตุ #70ปี70เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. นิสิตภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน ...
20/10/2022

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เวลา 13.30 น. นิสิตภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 11 คน เข้าศึกษาดูงาน ณ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เพื่อประกอบการศึกษารายวิชาการจัดการจดหมายเหตุ โดยมีนางพัชรินทร์ ลั้งแท้กุล ผู้อำนวยการกลุ่มเอกสารจดหมายเหตุและบริการ และนางสาวณัฏฐา กล้าหาญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ บรรยาย นายศรายุทธ ธรรมโชติ นางสาวมณีรัตน์ พุทธอุปถัมภ์ นางสาวพนิดา วงศ์บุญ นักจดหมายเหตุชำนาญการ นางสาวอาทิพรรษ์ ผาจันดา นางสาวเชิญขวัญ นิวัฒน์วราพร นางสาวเบญญาแสงคล้าย นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ และนางกฤตพร หย่องเจริญ เจ้าพนักงานจดหมายเหตุชำนาญงาน นำชม

การหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เมืองพิษณุโลก-------------------------------------พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลอง...
20/10/2022

การหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) เมืองพิษณุโลก
-------------------------------------
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่มีการจำลองมากที่สุด ดังที่เห็นกันทั่วไปว่าพระประธานในโบสถ์หรือวิหารทั่วเมืองไทย ตลอดจนวัดไทยในต่างประเทศส่วนมากจะนิยมเป็นพระพุทธชินราช พระพุทธชินราชองค์แรกที่เป็นต้นแบบของพระพุทธชินราชจำลองซึ่งแพร่หลายอยู่ทั่วไปนั้น ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

พระพุทธชินราช (จำลอง) เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ จำลองแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว (2.875 เมตร) สูง 7 ศอก (3.5 เมตร)

ประวัติการหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงสถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามเมื่อพุทธศักราช 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบพระอุโบสถและตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อน มีความงดงามวิจิตร จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความงดงามทัดเทียมกัน และทรงระลึกได้ว่า เมื่อพุทธศักราช 2409 ทรงบรรพชาเป็นสามเณร ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระบรมชนกนาถ ไปนมัสการพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ทรงแลเห็นพระพุทธลักษณะแห่งองค์พระพุทธชินราชว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงามหาพระพุทธรูปองค์ใดเปรียบมิได้ แต่การจะอัญเชิญลงมาประดิษฐาน ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ย่อมไม่สมควร ด้วยเป็นสิริของชาวเมืองพิษณุโลก จึงมีพระราชดำริให้หล่อพระพุทธชินราชขึ้นใหม่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระประสิทธิ์ปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เมืองพิษณุโลก มอบกรมหลวงดำรงราชานุภาพเป็นผู้ประสานงานจัดการงานทั้งปวงอยู่ที่กรุงเทพฯ มอบให้พระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก เป็นผู้ดูแลจัดการทั่วไปที่เมืองพิษณุโลก จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเททองหล่อเป็นส่วน ๆ ในวันที่ 20 ตุลาคม พุทธศักราช 2444 โดยมีน้ำหนักทองที่ใช้หล่อ 3,940 ชั่ง เมื่อหล่อเสร็จแล้วได้อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์พระและตกแต่งที่กรมทหารเรือ กรุงเทพมหานคร โดยมีพระยาชลยุทธ์โยธินทร์ (Andre du Plessis de Richelieu) ผู้บัญชาการกรมทหารเรือชาวเดนมาร์ก เป็นผู้ควบคุมแต่งองค์พระ เมื่อแต่งองค์พระเสร็จแล้ว เชิญลงเรือมณฑปแห่ไปตามลำน้ำเพื่อนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พุทธศักราช 2444

ผู้เรียบเรียง นางบุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุเชี่ยวชาญ
-------------------------------------
อ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 เบ็ดเตล็ด ร.5 บ 1.1/14 เรื่องเสด็จประพาสเมืองเหนือ (4 ส.ค. – 11 พ.ย. ร.ศ.120)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 6/55 (บ) เรื่องรายการพระราชกุศลวัดเบญจมบพิตร และตำนานพระพุทธชินราช (ร.ศ.118 – 13 มี.ค. ร.ศ.120)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 6/86 (บ) เรื่องพระพุทธชินราช (3 ส.ค. ร.ศ.120 – 2 ส.ค. ร.ศ.129)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 13/22 เรื่องหล่อพระพุทธชินราชที่เมืองพิศณุโลก มีจัดการปั้นหุ่นแลเททอง (14 ต.ค. – พ.ย. ร.ศ.119)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ร.5 ศ 13/24 เรื่องพระพุทธชินราชจำลอง (12 ก.พ. ร.ศ.119 – 12 เม.ย. ร.ศ.121)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. แผนที่กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 กระทรวงศึกษาธิการ ผจ ร.5 ศ/27 แผนที่สถานที่ตั้งพลับพลา โรงปั้นหุ่น โรงหล่อ และโรงสูบทอง พระพุทธชินราชจำลอง มณฑลพิศณุโลก

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 001 หวญ 43/71 ภาพเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวิชรญาณ ภ 001 หวญ 45/25 ภาพพระยาชลยุทธโยธิน (ริชลิว)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวิชรญาณ ภ 001 หวญ 51ก/35 ภาพพระประสิทธิ์ปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวิชรญาณ ภ 001 หวญ 92/5-7,10-12 เรื่องพระราชพิธีหล่อพระพุทธชินราช

กระทรวงศึกษาธิการ. พระราชปรารพ เรื่อง พระพุทธชินราช ปีรัตนโกสินทร์ศก 120. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, ร.ศ. 120 (กจช.น. ร.5 ศ/3)

พระราชกิตติเวที (วิฑูรย์ ปสนฺนจิตฺโต ป.ธ.6,Ph.D) เรื่อง พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2548.

#จดหมายเหตุ

วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย---------------------------เหตุการณ์ทางการเมือง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถือได้ว่าเป็นเหตุการ...
14/10/2022

วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย
---------------------------

เหตุการณ์ทางการเมือง ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองที่ถือเป็นบทเรียนอันมีค่าของประเทศไทย

ความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ถนอม กิตติขจร กับประชาชน เกิดขึ้นจากหลายปัจจัยทั้งปัจจัยทางการเมือง การปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จนนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เมื่อนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และเกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหาร ตำรวจ และประชาชน เป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

เหตุการณ์ความขัดแย้งคลี่คลายลงเมื่อจอมพล ถนอม กิตติขจร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเดินทางออกนอกประเทศ ตลอดจนด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ทรงมีพระราชดํารัสทางวิทยุและโทรทัศน์ ทรงขอให้ทุกฝ่ายยุติเหตุความรุนแรง และทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย

พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ส่งญัตติด่วนเรื่อง ให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันประชาธิปไตย โดยมอบให้รองนายกรัฐมนตรี (นายจาตุรนต์ ฉายแสง) รับไปพิจารณาดำเนินการร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วแจ้งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันประชาธิปไตย โดยเห็นชอบให้วันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสำคัญของชาติ แต่มิให้เป็นวันหยุดราชการประจำปี สำหรับการกำหนดชื่อวันสำคัญดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “วันประชาธิปไตย” เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเข้าใจที่สับสนคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับพัฒนาการของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศที่ได้มีมาก่อนหน้านี้

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้ร่วมกันพิจารณาในหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดชื่อวันสำคัญ และมีความเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญยิ่งต่อพัฒนาการของประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ประชาชนจำนวนมากได้มาร่วมแสดงพลังเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จนประสบความสำเร็จ และพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยให้รุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน สมควรแก่การยกย่องเชิดชู ดังนั้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้ระลึกถึงประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย และสำนึกในสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขให้สมบูรณ์ยั่งยืนสืบไป สมควรเชิดชูให้วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันสำคัญของชาติ โดยให้ใช้ชื่อว่า "วัน 14 ตุลา ประชาธิปไตย"

ผู้เรียบเรียง นายศรายุทธ ธรรมโชติ นักจดหมายเหตุชำนาญการ คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
---------------------------

อ้างอิง

มูลนิธิ 14 ตุลา.“บันทึกเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่าน 13 กบฏ”ในโครงการสนับสนุนการพัฒนาเนื้อหาการสื่อสารของมูลนิธิ 14 ตุลา ในวาระครบรอบ 40 ปี 14 ตุลา 2516 มูลนิธิ 14 ตุลา. กรุงเทพฯ : บริษัทบริษัท มาตา การพิมพ์, 2556.

สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. วันประชาธิปไตย.เข้าถึงได้จาก
https://resolution.soc.go.th/?page_id=74&find_word=%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%9B%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A2&start_date=&end_date=&book_number=&page_no=1 สืบค้นเมื่อ 30 กันยายน 2565.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/3 6 ตุลาคม 2516 โปสเตอร์ที่มีข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/57 นิสิต นักศึกษาฟังการอภิปราย

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/139 โปสเตอร์การเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/149 การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/159 การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพจดหมายเหตุเหตุการณ์สำคัญ ฉ/ส.1/226 นิสิต นักศึกษาและประชาชน นอนราบหลบกระสุนปืนของทหาร

#จดหมายเหตุ

บันทึกไว้ในความทรงจำ: 13 ตุลาคม พสกนิกรทั่วหล้า นองน้ำตาทั่วแผ่นดิน วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหา...
13/10/2022

บันทึกไว้ในความทรงจำ: 13 ตุลาคม พสกนิกรทั่วหล้า นองน้ำตาทั่วแผ่นดิน วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
-----------------------------

ย้อนกลับไปช่วงพุทธศักราช 2557 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มมีพระอาการประชวร และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระองค์ ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 16 โรงพยาบาลศิริราช ตามที่สำนักพระราชวังได้ออกแถลงการณ์ให้ทราบเป็นระยะ

ขณะทรงรักษาพระอาการประชวร ระหว่างพุทธศักราช 2557 - 2559 พระองค์ยังคงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินออกนอกอาคารเฉลิมพระเกียรติ พสกนิกรต่างมารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จพร้อมกล่าวทรงพระเจริญ ตลอดเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินอย่างเนืองแน่น

หลังจากมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 37 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เกี่ยวกับพระอาการประชวร ในเช้าวันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ณ บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พสกนิกรต่างมาร่วมตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรชัยมงคลให้ทรงหายจากพระอาการประชวร โดยส่วนใหญ่สวมเสื้อสีเหลืองอันเป็นสีประจำวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันพระบรมราชสมภพ และเสื้อสีชมพูอันเป็นสีมงคล หมายถึงสุขภาพดีสำหรับผู้เกิดวันจันทร์ และได้นำพวงมาลัยมาถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนกและพระรูปหล่อของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาศิริราช 100 ปี เพื่อขอพระราชทานพรให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงหายจากพระอาการประชวร นอกจากนี้ยังนั่งหันหน้าไปยังอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 16 ซึ่งเป็นที่ประทับ ร่วมเจริญพระพุทธมนต์ บทโพชฌงคปริตร ซึ่งเป็นบทสวดให้พระพุทธคุณปกป้องคุ้มครองผู้ป่วยให้หายจากอาการป่วยตลอดทั้งวันทั้งคืน

แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แต่พระอาการประชวรได้ทรุดหนักลงตามลำดับ และเสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองสิริราชสมบัติได้ 70 ปี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต สำนักพระราชวังได้ ประกาศ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต และได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ให้ประชาชนทราบเมื่อเวลา 19 นาฬิกา

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 19 นาฬิกา พสกนิกรชาวไทยที่ทราบข่าวการสวรรคตต่างหลั่งน้ำตาให้กับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ล่วงมาจนถึงวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ประชาชนต่างเฝ้ารอเคารพพระบรมศพอย่างเนืองแน่นตลอดเส้นทางเคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลศิริราช ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง อีกทั้งสำนักพระราชวังได้เปิดให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระบรมศพ ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งแม้จะรอคอยโดยไม่รู้ห้วงเวลา ท่ามกลางแสงแดดร้อน และน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม ก็ไม่ได้บั่นทอนความตั้งใจที่จะน้อมส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย

เมื่อเวลาเวียนมาบรรจบในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี จึงเป็นวันสำคัญที่พสกนิกรชาวไทย ต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อพสนกนิกรชาวไทยตลอด 70 ปีที่ผ่านมา และเป็นความทรงจำ ที่บอกเล่าต่อไปนานแสนนาน

ผู้เรียบเรียง : นายวีระยุทธ ไตรสูงเนิน นักจดหมายเหตุชำนาญการ
-----------------------------

อ้างอิง

คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช. 2564. จดหมายเหตุงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร. กรุงเทพมหานคร : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด

#จดหมายเหตุ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติปิดบริการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุเดือนตุลาคม 2565วันที่ 13 - 15 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต...
11/10/2022

หอจดหมายเหตุแห่งชาติปิดบริการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุเดือนตุลาคม 2565

วันที่ 13 - 15 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และวันหยุดราชการกรณีพิเศษ (ตามมติคณะรัฐมนตรี)

วันที่ 24 ตุลาคม 2565 เนื่องในวันชดเชยวันปิยมหาราช

ขออภัยในความไม่สะดวก

-----------------------------------

สอบถามข้อมูลการค้นคว้าเอกสารจดหมายเหตุ โทร 0 2282 8423 เอกสารลายลักษณ์ ต่อ 103 เอกสารโสตทัศนจดหมายเหตุ ต่อ 233 (ในวันและเวลาราชการ)
หรือ inbox ทาง Facebook สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

70 ปี 70 เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : การส่งต้นแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไปหล่อที่ประเทศอิตาลี-----------...
10/10/2022

70 ปี 70 เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ : การส่งต้นแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไปหล่อที่ประเทศอิตาลี
-----------------------------
เมื่อคราวฉลองพระนครครบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภพระราชประสงค์ที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กับคณะรัฐบาล ต่อมาคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจึงมีมติให้สร้างปฐมบรมราชานุสรณ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พร้อมกับการสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี

เอกสารจดหมายเหตุที่จะนำเสนอเป็นรายการที่ 5 คือ เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร รหัส (4) ศธ 2.1.2.1.2/2 เรื่อง การส่งพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ไปหล่อที่ประเทศอิตาลี [29 พ.ย.-26 ธ.ค. 2473] [20 แผ่น] เป็นเอกสารที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงออกแบบและอำนวยการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ มีหนังสือทูลพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศวโรทัย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ให้ทรงทราบเพื่อประสานราชทูตสยาม ณ กรุงโรม ให้ช่วยดำเนินการเรื่องการจัดส่งหุ่นตัวอย่างพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ไปหล่อด้วยทองบรอนซ์ที่ประเทศอิตาลี มาดูว่าการจัดส่งหุ่นต้นแบบพระบรมรูปไปหล่อที่ประเทศอิตาลี มีวิธีการอย่างไร ส่งไปเมืองไหน และใครเป็นผู้ควบคุมดูแลการหล่อพระบรมรูปจนแล้วเสร็จ

ข้อราชการในการส่งพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ไปหล่อ ณ ประเทศอิตาลี มีรายละเอียดแจ้งไว้ ดังนี้

“แผนกศิลปากรจะได้จัดส่งแบบพระบรมรูปเปนปูนปลาสเตอร์ออกไปคอยท่าอยู่ที่เมือง เยนัว ให้ทันปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473

นายเฟโรจี (Mr. C. Feroci) ครูช่างปั้นแห่งศิลปากรสถานจะได้ลงเรือจากกรุงเทพฯ ราววันที่ 15 มกราคม ไปประเทศอิตาลี เมื่อถึงประเทศอิตาลีแล้ว จะต้องรีบสอบสวนรายนามช่างหล่อต่าง ๆ ที่ได้รับเชื้อเชิญให้ยื่นประมูลว่า ที่ใดแห่งใดสมควรจะไว้ใจได้หรือไม่ เมื่อได้ความถ้วนถี่แล้วจะได้ไปรายงานตัวต่อท่านราชทูตสยาม ณ กรุงโรมในฐานข้าราชการผู้แนะนำวิชชาการ เพื่อช่วยเสนอความเห็นในการเปิดประมูล แลทำสัญญาตามความประสงค์ของท่านราชทูต

แผนกศิลปากรจะได้รวบรวมแบบแลรายงานส่งไปยังช่างหล่อเพื่อเชิญให้เข้ายื่นประมูลราคาที่จะรับทำการหล่อพระบรมรูปนี้ ช่างเหล่านี้จะต้องส่งใบประมูลไปยังสถานทูตก่อนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ท่านราชทูตควรจะรวบรวมใบประมูลนี้ และเมื่อได้พบนายเฟโรจีแล้ว จึงจะเรียกผู้แทนช่างมาพร้อมเปิดประมูล แลเมื่อตกลงให้งานต่อผู้ใดแล้วควรจะต้องทำสัญญาให้มีลักขณข้อความตามรายการที่ส่งมานี้ และควรจะหาทนายความ หรือผู้ชำนาญในสัญญาเช่านี้มาเปนผู้เรียบเรียง เผื่อว่าจะมีเหตุให้เปนถ้อยความกันต่อไป

นายเฟโรจี จะเปนผู้ตรวจการและเสนอรายงานต่อท่านราชทูตทุกเดือน เพื่อจะได้จัดการจ่ายเงินให้แก่ช่างตามข้อสัญญาที่ได้ตกลงกัน สัญญานั้นท่านราชทูตจะได้ส่งมาทางกระทรวงเพื่อเบิกจ่ายเงินในราชการรายนี้สำหรับจ่ายให้ช่างให้เปนที่เรียบร้อย แต่ถ้าคราวแรกเปนการฉุกละหุก จะรอรับเงินจากกรุงเทพฯ ไม่ทันการ ก็ขอให้ท่านราชทูตรองจ่ายไปก่อนอย่าให้งานชะงักอยู่

ค่าใช้จ่ายในราชการต่าง ๆ ของนายเฟโรจีนั้น ขอให้ท่านราชทูตรับสิทธิจ่ายทดแทนให้นายเฟโรจีตามระเบียบของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีกำหนดไม่เกินกว่า 500 ปอนด์

อนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องพระประสงค์พระบรมรูปอย่างเดียวกันนี้เปนขนาดเล็ก นายเฟโรจีจะจัดการให้ถ่ายแบบทำด้วยทองหล่อ จัดส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพร้อมกันก็ดี หรือถ้ามีการขัดข้องจะช้าไปกว่าก็ได้ ในเรื่องก็ต้องขอให้ท่านราชทูตเปนธุระเบิกจ่ายแล้วบอกมาเช่นเดียวกัน

ห้างอีสท์เอเชียติกจะเปนผู้จัดการยกขนระวางกรุงเทพฯ กับเยนัว แล เมสสินา กับ กรุงเทพฯ จะต้องขอให้ท่านราชทูตเปนธุระช่วยเหลือในการภาษี และใบอนุญาตขนส่ง ถ้าเขาจะมีความประสงค์ให้ช่วยในกิจการเหล่านี้ที่สุดที่จะทำได้.

SCHEDULE OF TIME

Shipment from Bangkok to Genoa
1st January to 28th February (2 months)

Signature of Contract
1st March
Shipment from Factory
31st December (10 months)

Shipment from Genoa to Bangkok
1st January to 28th February (2 months)

Fitting
March (1 month)…”

นายเฟโรจี (Mr. C. Feroci) ครูช่างปั้นแห่งศิลปากรสถาน ที่ปรากฏในเอกสาร คือ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ซึ่งขณะนั้นรับราชการที่ศิลปากรสถาน หรือกรมศิลปากรในปัจจุบันนั่นเอง

หมายเหตุ : การสะกดคำยึดการสะกดคำตามอักขรวิธีปัจจุบัน ยกเว้นชื่อเรื่องรายการ คำศัพท์เฉพาะ หรือการคัดลอกข้อความ จะคงสะกดตามที่ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุรายการนั้น ๆ

สืบค้นและเรียบเรียง : น.ส. ดุษฎี ชัยเพชร นักจดหมายเหตุชำนาญการ

#จดหมายเหตุ #70ปี70เรื่องเล่าจากจดหมายเหตุ #ปฐมบรมราชานุสรณ์

08/10/2022
ตามรอยเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ จากพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้...
29/09/2022

ตามรอยเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ จากพระราชหัตถเลขาคราวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
------------------------------

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือครั้งแรกอย่างเป็นทางการในพุทธศักราช 2444 เพื่อทรงตรวจราชการ ทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง และพระราชทานพระแสงศัสตราประจำเมือง เสด็จโดยเรือพระที่นั่งจากพระราชวังบางปะอินล่องตามลำน้ำเจ้าพระยาต่อด้วยลำน้ำน่าน แวะประทับและปฏิบัติพระราชกรณียกิจตามหัวเมืองรายทางสองฝั่งลำน้ำอันได้แก่ เมืองอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สรรพยา สรรคบุรี ชัยนาท มโนรมย์ อุทัยธานี พยุหคีรี นครสวรรค์ บางมูลนาค บ้านขะมัง พิจิตร พิษณุโลก พิชัย ตรอนตรีสินธุ์ อุตรดิตถ์ สุดทางเสด็จที่เมืองฝาง แล้วเสด็จกลับโดยเรือพระที่นั่งตามเส้นทางเดิมจนถึงพระราชวังบางปะอิน

ระหว่างประทับหัวเมืองต่าง ๆ ได้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแก่ที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร ความในพระราชหัตถเลขาบอกเล่าถึงพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติและเส้นทางการเสด็จในสถานที่ต่าง ๆ วิถีชีวิตของราษฎร และพระบรมราชวินิจฉัยในเรื่องต่าง ๆ ในที่นี้ขอยกเรื่องราวในพระราชหัตถเลขาบางตอนในการเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 23 – 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2444 ดังนี้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จถึงเมืองอุตรดิตถ์ในวันที่ 23 ตุลาคม พุทธศักราช 2444 ความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา ได้กล่าวถึงสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตในเมืองอุตรดิตถ์ไว้ว่า

“ในตลาดนั้นมีเรือนแถวฝากระดาน 2 ชั้น แต่ใหญ่ ๆ กว่าที่กรุงเทพฯ ที่แล้วก็มาก ที่ยังทำอยู่ก็มีเปนร้านขายของอย่างครึกครื้น ที่เปนบ้านเรือนแลห้างก็มีบ้าง เขาว่าตลาดบกที่นี่ดีกว่าที่ปากน้ำโพ ซึ่งฉันยังไม่ได้เหน แต่ตลาดเรือนั้น ที่นี่สู้ปากน้ำโพไม่ได้ การซึ่งตลาดติดได้ใหญ่โต เพราะพวกเมืองแพร่มาลงที่ท่าเสา เหนือท่าอิฐขึ้นไปคุ้งหนึ่ง พวกเมืองน่านลงมาทางลำน้ำ พวกข้างเหนือแลตะวันออกลงข้างฟากตวันออก แต่มาประชุมกันค้าขายแลกเปลี่ยนอยู่ที่หาดนั้น”

นอกจากนั้น เมื่อพระองค์เสด็จประพาสเมืองทุ่งยั้งในวันที่ 24 ตุลาคม พุทธศักราช 2444 ได้เสด็จประพาสวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ทรงบันทึกลักณะของวิหารพระแท่นศิลาอาสน์โดยละเอียดว่า

“ที่บริเวณพระแท่นนั้น มีกำแพงแก้วล้อมรอบ เปนกำแพงหนาอย่างวัดโบราณ มีวิหารใหญ่หลัง 1 โตกว่าวิหารพระแท่นดงรัง ข้างในตรงกลางวิหาร มีมณฑป ในมณฑปนั้นมีแท่นก่ออิฐถือปูนอย่างแท่นตั้งพระประธานยาว 6 ศอกคืบ 2 นิ้ว กว้าง 5 ศอก 4 นิ้ว ที่กลางเปนช่องสำหรับผู้มามัศการบรรจุเงินแลเข็ม ตามปรกติปี 1 ได้เงินอยู่ใน 1000 บาท แต่เข็มได้ถึง 2 ขัน ด้านริมผนังหลังวิหารมีพระพุทธรูปกองโต ต้นพุดทราอยู่ในกำแพงข้างขวาวิหาร ข้างซ้ายวิหารมีมุขยื่นออกไปเปนที่บ้วนพโอษฐ์แลประตูยักษอยู่ตรงนั้น”

พระราชหัตถเลขาที่ได้คัดเลือกมา เป็นส่วนหนึ่งของการเสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ พุทธศักราช 2444 แสดงให้เห็นถึงความสนพระราชหฤทัยและความใส่พระทัยต่อสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร รวมถึงพระปรีชาสามารถด้านโบราณคดี โดยทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยถึงรายละเอียดของโบราณสถานและโบราณวัตถุซึ่งแสดงให้เห็นถึงร่องรอยทางประวัติศาสตร์และความสำคัญของเมืองอุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังมีพระราชหัตถเลขาในคราวเสด็จที่ต่าง ๆ อีกหลายฉบับที่มีคุณค่าความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้สนใจสามารถศึกษาค้นคว้าข้อมูลได้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ผู้เรียบเรียง นายภูชิสส์ พันธุ์วิภาค นักจดหมายเหตุ
------------------------------
อ้างอิง

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ร.5 บ 1.1/14 เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 เบ็ดเตล็ด เรื่อง เสด็จประพาสเมืองเหนือ (4 ส.ค. – 11 พ.ย. 120)

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ 002 หวญ 2/4 พระแท่นศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ. ภอ 003 หวญ 85/27,28 รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ พ.ศ. 2444

#จดหมายเหตุ

28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย---------------------เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ก่อนที่ธงไตรรงค์จะถูกใช้เ...
28/09/2022

28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย
---------------------

เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี ก่อนที่ธงไตรรงค์จะถูกใช้เป็นธงประจำชาติไทย แนวคิดเรื่องการใช้ “ธง” เพื่อเป็นสื่อตัวแทนของ “รัฐชาติ” ยังไม่ปรากฏในไทยมากนัก เนื่องจากขณะนั้นไทยยังไม่มีกรอบกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความเป็นรัฐชาติที่มีอำนาจอธิปไตยและมีเส้นเขตแดนกำกับชัดเจน การใช้ธงแทนกลุ่มกองต่าง ๆ จึงมีเพียงธงสีในกองทัพเท่านั้น กระทั่งเมื่อเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับตะวันตก วัฒนธรรมการชักธงเพื่อแสดงออกว่าเรือสินค้านั้นเป็นของชนชาติใดจึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่แพร่หลายมากขึ้น ธงที่ชักบนเรือสินค้าไทยในยุคแรกมีลักษณะเป็นธงสีแดงล้วนทั้งผืน ไม่มีสัญลักษณ์หรือสีอื่นแทรก จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ลักษณะของธงบนเรือสินค้าไทยจึงเริ่มเปลี่ยนไป

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบธงบนเรือสินค้าไทยเป็นครั้งแรก พระองค์ทรงกำหนดให้นำรูปจักรสีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ มาประดับไว้ตรงกลางธงสีแดงแบบเก่า ใช้สำหรับชักบนเรือหลวงเพื่อจำแนกความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์กับเรือของราษฎร ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงขึ้นครองราชย์ ได้มีพระบรมราชโองการให้ปรับเปลี่ยนลักษณะธงประดับเรือหลวงใหม่ โดยเพิ่มรูปช้างเผือกไว้ตรงกลางจักร สื่อถึงการได้ช้างเผือกมาไว้ในพระบรมราชสมภารถึง 3 เชือก นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์อย่างยิ่งตามความเชื่อของชาวไทยในยุคนั้น

ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติตะวันตกยังคงดำเนินไปอย่างแน่นแฟ้น มีการตั้งสถานกงสุลของชาติตะวันตกหลายแห่งในประเทศไทย และเมื่อสถานกงสุลเหล่านั้นชักธงชาติของตนขึ้นประดับสถานที่ พระองค์จึงทรงเห็นควรว่าไทยจำเป็นต้องมีธงชาติบ้าง โดยใช้ธงเรือหลวงของรัชกาลที่ 2 เป็นธงชาติ แต่ให้เอารูปจักรออกเพราะเป็นเครื่องหมายเฉพาะของราชวงศ์ คงเหลือไว้เพียงรูปช้างเผือกตรงกลางพื้นสีแดงเท่านั้น นอกจากนี้ยังทรงยกเลิกไม่ให้ใช้ธงพื้นสีแดงเปล่าอีกต่อไปเพื่อป้องกันความซ้ำซ้อนกับธงของชาติอื่น

พุทธศักราช 2434 ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นับเป็นครั้งแรกที่ไทยมีการตราพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการใช้ธงอย่างเป็นทางการ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม ร.ศ. 110 และแก้ไขเพิ่มเติมอีกสองครั้ง เพื่อให้การใช้ธงต่าง ๆ มีระเบียบแบบแผนที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม แนวทางการใช้ธงของราษฎรกลับยังไม่เป็นไปในทางเดียวกันเท่าที่ควร โดยเฉพาะธงช้างเผือกที่รูปช้างบนธงยังไม่มีความเป็นเอกภาพ กอปรกับธงชนิดนี้ต้องสั่งพิมพ์จากต่างประเทศและบางครั้งผู้ชักก็ชักธงผิด เอาขาช้างชี้ขึ้นฟ้าทำให้ไม่งดงาม

พุทธศักราช 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานราชการเปลี่ยนมาใช้ธงช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่น แทนธงช้างเผือกแบบเก่า ส่วนราษฎรให้ใช้ธงแถบสีแดงสลับสีขาว ซึ่งง่ายต่อการตัดเย็บเองและสามารถกลับหัวธงได้ ทว่าใช้ได้เพียงหนึ่งปีเท่านั้นพระองค์ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับธงชาติไทยฉบับใหม่ ลงวันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2460 สาระสำคัญว่าด้วยการกำหนดใช้ “ธงไตรรงค์” เป็นธงประจำชาติไทย โดยทรงรับสั่งให้เพิ่มแถบสีน้ำเงินแก่ หรือสีขาบ เข้าไปในธงสีแดงสลับสีขาว ตามลักษณะเดียวกับธงชาติสามสีของประเทศมหาอำนาจในฝ่ายสัมพันธมิตร เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกา รัสเซีย เป็นการแสดงออกถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ประกาศศึกกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี อีกทั้งสีน้ำเงินแก่ยังเป็นสีมงคลประจำพระชนมวารและเป็นสีทรงโปรด จึงเห็นสมควรให้ประกอบไว้บนธงชาติด้วย

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีนโยบายรัฐนิยม รณรงค์ให้คนไทยเคารพธงชาติพร้อมกันในเวลา 8 นาฬิกา ก่อนจะกำหนดเป็นพระราชกฤษฎีกาไว้อย่างชัดเจนเมื่อพุทธศักราช 2485 จนกลายเป็นระเบียบปฏิบัติเรื่อยมา

หนึ่งศตวรรษหลังการประกาศใช้ธงไตรรงค์ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในที่ประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2559 ให้ระบุค่าสีมาตรฐานของธงชาติไทยเป็นครั้งแรก เพื่อให้สีที่ใช้มีความเป็นสากลและไม่ผิดเพี้ยนไปจากกัน นอกจากนั้นยังกำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันพระราชทานธงชาติไทย (Thai National Flag Day) เพื่อน้อมรำลึกและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานธงไตรรงค์ให้ปวงชนชาวไทยได้ใช้ตราบจนทุกวันนี้

ผู้เรียบเรียง นางสาวเบญญา แสงคล้าย นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ
---------------------
เอกสารอ้างอิง

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.5 บ13/1 เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบธง ร.ศ. 109 (16 มี.ค. 109 – 25 มี.ค. 110)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.5 บ13/2 เรื่อง พระราชบัญญัติแบบธงต่าง ๆ ร.ศ. 113 (15 มี.ค. 113 – 22 ธ.ค. 118)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.5 บ13/6 เรื่อง แก้พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116 (5 – 6 เม.ย. 116)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.5 บ13/15 เรื่อง คำอธิบายเรื่องธง (ม.ท.)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ร.5 บ13/17 เรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก 110 (25 มี.ค. 110)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 ร.6 บ7/3 แก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ.118 (1 ก.พ. 2453 – 22 ก.พ. 2460)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ.2.13/11 เรื่อง ตำนานธงไทย (20 มี.ค. 2471)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ (2) ศธ.26/1255 เรื่อง ให้กระทำความเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น. และระเบียบชักธงของสถานที่ราชการ (สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) (4 ก.ย. 2485 – 27 ม.ค. 2486)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงมหาดไทย มท.0201.2.1.3/21 เรื่อง เคารพธงชาติ (พ.ศ. 2485 – 2496)

พระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 (29 กันยายน 2485). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 59 ตอนที่ 63. หน้า 1760-1765.

สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. (2564). E-Book ธงไตรรงค์ ธำรงไทย 28 กันยายน วันพระราชทานธงชาติไทย, 27 กันยายน 2564.

#จดหมายเหตุ #วันพระราชทานธงชาติไทย

24 กันยายน วันมหิดล-------------------------- สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ต้นราชสกุล มหิดล) เป็นพร...
24/09/2022

24 กันยายน วันมหิดล
--------------------------

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (ต้นราชสกุล มหิดล) เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2434 ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2446 ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศเยอรมนี และวิชาแพทย์จากประเทศสหรัฐอมริกา

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ เสด็จกลับประเทศไทย ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่ง ข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไปในกระทรวงศึกษาธิการ (Inspector-General of Education) ซึ่งเป็นตำแหน่งเทียบเสมออธิบดี มีหน้าที่ตรวจตราแนะนำการศึกษาทั่วไป สืบข่าวคราวทั้งในประเทศและนอกประเทศ เพื่อนำมาปรับปรุงปฏิรูปการศึกษาในประเทศไทย

นอกจากด้านการศึกษาแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ยังทรงประกอบพระกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุขนานัปการ ทรงตรวจโรคและค้นคว้าทดลองหาวิธีรักษาโรคมาลาเรีย ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ ทรงมีพระราชปรารถในการฝากเงินธนาคารจำนวน 200,000 บาท ซึ่งควรได้ดอกเบี้ยปีละ 8,000 บาท โดยทรงมอบเงินจำนวนนี้ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกปีเพื่อเป็นทุนสำหรับนักเรียนแผนกแพทย์ศาสตร์ และเมื่อสิ้นพระชนม์มีพระประสงค์ยกเงินมรดก 200,000 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อใช้ในการศึกษาของนักเรียนวิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ หรือการสาธารณสุขต่อไป

สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2472

ในเอกสารจดหมายเหตุส่วนพระองค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปรากฏหลักฐานว่า ขณะสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ประชวร ได้ทรงให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเฝ้าข้างที่พระบรรทม ขอให้ช่วยเป็นธุระเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว ให้สมพระประสงค์ในการที่จะให้มีโรงเรียนนางพยาบาลตั้งขึ้นเนื่องกับโรงพยาบาลศิริราช สอนวิชาพยาบาลชั้นสูงขึ้นในประเทศ โดยทรงซื้อที่ดินและโปรดให้โรงพยาบาลศิริราชเช่าในราคาต่ำมาก เพื่อให้ประโยชน์แก่งานการพยาบาล รวมทั้งได้หารือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เจรจาเพื่อขอเงินทุนในการก่อสร้างอาคาร ทั้งนี้ มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มีเงื่อนไขว่า รัฐบาลหรือประเทศนั้น ๆ ต้องสนับสนุนเงินเท่ากับเงินมูลนิธิ จึงทรงฝากให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คอยทรงเป็นธุระให้โครงการนี้สำเร็จลุล่วง โดยทรงประทานกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนั้นเพื่อสร้างโรงเรียนนางพยาบาลในประเทศไทย

ด้วยคุณูปการที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ ได้ทรงอุปถัมภ์เกื้อหนุนกิจการของศิริราชพยาบาลเป็นปฐมมูล คณะกรรมการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจึงมีมติกำหนดให้วันที่ 24 กันยายน ของทุกปี เป็นวันมหิดล เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระบรมราชชนก โดยมีการจัดงานวันมหิดลอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 กันยายน พุทธศักราช 2494

ต่อมาในพุทธศักราช 2496 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มาทรงพระราชสักการะ ทรงสักการะ และทรงวางพวงมาลาพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก นับแต่นั้นมา งานวันมหิดลจึงเป็นพิธีหลวงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะ ในวันที่ 24 กันยายน ของทุกปี

เรียบเรียงโดย นางสาวพุธิตา ขำบุญลือ นักจดหมายเหตุปฏิบัติการ คณะทำงานด้านการจัดการองค์ความรู้ของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
--------------------------
อ้างอิง

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์. พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์.[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.princemahidolaward.org/th/a-complete-biography-of-prince-mahidol/ สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2565.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุวราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2552.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงการต่างประเทศ กต.6.7/17 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์จะทรงศึกษาวิชาแพทย์ (พ.ศ. 2466)

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ ศธ.3.8/340 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไปในกระทรวงศึกษาธิการ (24 พ.ค. - 16 ต.ค. 2467)

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 ร.6น.20.13/45 พระราชปรารภของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ในการให้เงิน 200,000 บาท บำรุงนักเรียนสำหรับวิชาแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (3 พ.ย. 2463)

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 7 ร.7ม7/4 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลา เสด็จตรวจและทดลองโรคต่าง ๆ จังหวัดเชียงใหม่ (14 - 16 มี.ค. 2471)

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนพระองค์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สบ2.32/22 พระดำริของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ จะสร้างโรงเรียนนางพยาบาลและเรื่องจะประทานที่ดินสำหรับก่อสร้าง (14 - 16 มี.ค. 2471)

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์ มหาวิทยาลัยมหิดล. นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสครบรอบ 120 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก และ 43 ปี แห่งวันพระราชทานนามมหาวทยาลัยมหิดล. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://museum.li.mahidol.ac.th/wp-content/uploads/2020/05/exhibition10.pdf สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2565.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.001 หวญ28-22/1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ภาพชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ภ.003 หวญ69/21 สมเด็จพระพันวัสสาและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ เสด็จเปิดตึกปฏินันท์ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พ.ศ. 2472.

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพชุดมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ภ หจภ ศธ8.1/9(1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในงานวันมหิดล ณ โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี (24 กันยายน 2498)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพชุดมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ภ หจภ ศธ 8.1/33(1) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในงานวันมหิดล ทรงวางพวงมาลา และถวายบังคมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก จากนั้น พระราชทานเข็มสมนาคุณแก่ผู้มีอุปการคุณแก่มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราช และพระราชทานรางวัลแก่นักศึกษาที่ชนะการประกวดเรียงความเนื่องในวันมหิดล และเสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร และอนุปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2515 - 2516 ณ หอประชุมราชแพทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร (24 กันยายน 2516)

หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช. ภาพชุดมหาวิทยาลัยมหิดล (คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล) ภ หจภ ศธ 8.2/3(3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพมหานคร (24 กันยายน 2536)

#จดหมายเหตุ #วันมหิดล

ที่อยู่

ถนนสามเสน เขตวชิรพยาบาล เขตด
เขตดุสิต
10300

เบอร์โทรศัพท์

+6622828423

เว็บไซต์

แจ้งเตือน

รับทราบข่าวสารและโปรโมชั่นของ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติผ่านทางอีเมล์ของคุณ เราจะเก็บข้อมูลของคุณเป็นความลับ คุณสามารถกดยกเลิกการติดตามได้ตลอดเวลา

ติดต่อ ธุรกิจของเรา

ส่งข้อความของคุณถึง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ:

วิดีโอทั้งหมด

ตำแหน่งใกล้เคียง บริการภาครัฐ


องค์กรของรัฐ อื่นๆใน เขตดุสิต

แสดงผลทั้งหมด

ความคิดเห็น

🇹🇭วันปิยมหาราช🇹🇭
🇹🇭ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นที่รักใคร่อย่างล้นเหลือของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ พระองค์จึงได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช" ซึ่งมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน" ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ🇹🇭
………………….🇹🇭🇹🇭🇹🇭🇹🇭🇹🇭🇹🇭………………………..
📸เครดิตภาพสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ
หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม ๒
------------
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
------------
ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกของสำนักหอจกดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกของ UNESCO เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๐
หนังสือฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ เฉลิมฟิล์มกระจกฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก เป็นหนังสือที่มีคุณค่า เพราะนอกจากจะบอกเล่าเรื่องราวในอดีต และเป็นหลักฐานสำคัญทางวัฒนธรรมแขนงต่างๆ แล้ว ยังเป็นความทรงจำที่ประทับใจคนไทยทั้งมวล สร้างความเป็นปึกแผ่นให้เกิดความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และหลอมรวมจิตใจของคยนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียว
ในราคาพิเศษ ๗๐๐บาท/เล่ม (มีจำนวนจำกัด)
------------
สนใจติดต่อ
ร้านหนังสือกรมศิลปากร
จุดจำหน่ายหนังสือของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
หรือ https://bookshop.finearts.go.th
#ฟิล์มกระจก #สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ #กรมศิลปากร
🇹🇭🇹🇭...#เบื้องหลังผู้พิชิตอุโมงค์ขุนตาน
พ.ศ. 2461 ลำปาง - ลำพูน...🇹🇭🇹🇭
หากเป็นยุคนี้การเจาะอุโมงค์เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมไม่ใช่เรื่องยากและสามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น เพราะมีเทคโนโลยีขุดเจาะด้วยเครื่องจักรกลที่ทันสมัยไม่ต้องใช้แรงคนเช่นในอดีต
ในปี พ.ศ.2448 สมัยรัชกาลที่ 5 สยามได้วางรางเปิดการเดินรถไฟจากกรุงเทพฯถึงปากน้ำโพ การสร้างทางรถไฟสายเหนือมีความคืบหน้าเป็นระยะๆจุดหมายปลายทางคือเชียงใหม่ นายช่างผู้นำรวจเส้นทางระบุว่าต้องเจาะอุโมงค์ลอดใต้ภูเขายาว 1,352.10 เมตร เพื่อให้รถไฟลอดผ่านไปซึ่งเป็นเรื่องใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในสยามมาก่อน
เมื่อได้ข้อยุติก็เลือกพื้นที่ภูเขาบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาน ระหว่างอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยการรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม มีพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยาการ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการ และมีนายช่างชาวเยอรมันชื่อ เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง
เมื่อขุดเจาะไปได้ 4 ปี ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เยอรมนีเป็นประเทศหลักในการทำสงคราม ขณะที่สยามวางตัวเป็นกลางได้ไม่นาน รัฐบาลสยามภายใต้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ประกาศสงครามต่อเยอรมัน เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2460 จึงทำให้การขุดเจาะหยุดชงัก วิศวกร คนงานชาวเยอรมันตกเป็นเชลยศึกถูกนำมากักตัวไว้ที่พระนคร 6 เดือน จากนั้นถูกส่งต่อไปยังประเทศอินเดียอีก 2 ปี จึงถูกส่งกลับเยอรมนีใน พ.ศ.2463 เมื่อสงครามสงบลง เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ วฺิศวกรผู้ควบคุมงานตั้งแต่แรกได้กลับมาทำงานจนกระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2461 ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 ปี
ในการขุดเจาะอุโมงค์นั้นใช้แรงงานจากคนล้วนๆ โดยเจาะรูเล็กๆ โดยใช้สว่าน หรือใช้แรงคนตอกสกัดให้เป็นรูเพื่อนำดินระเบิดไดนาไมต์ฝังเข้าไปในรูเพื่อระเบิดให้เป็นอุโมงค์ใหญ่ ถ้าหินก้อนใหญ่มากไม่สะดวกในการระเบิดให้แตกเป็นก้อนเล็กๆ ก็ใช้วิธีสุมไฟให้หินร้อนจัดแล้วราดด้วยน้ำเย็นลงไปเพื่อให้หินแตกออก ส่วนการขนดิน และหินออกจากอุโมงค์ก็ใช้คนงานขนออกมา การขุดเจาะเริ่มจากปลายอุโมงค์ทั้ง 2 ข้าง เข้ามาบรรจบกันตรงกลาง ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 ปี อุโมงค์จึงทะลุถึงกันได้ และใช้เวลาอีก 3 ปีเพื่อผูกเหล็ก เทคอนกรีต ทำผนัง และหลังคาเพื่อความแข็งแรง ป้องกันน้ำรั่วซึมจนอุโมงค์แล้วเสร็จ แต่ก็มีอุปสรรคการวางรางรถไฟจากลำปางไปยังปากอุโมงค์เนื่องจากทางต้องผ่านเหวลึกถึงสามแห่งไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องสร้างสะพานทอดข้ามเหวระยะทาง 8 กิโลเมตรไปยังปากอุโมงค์
เบื้องหลังความสำเร็จของการเจาะอุโมงค์ขุนตานนั้น นอกเหนือจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง วิศวกรชาวเยอรมัน ยังมีแรงงานชาวจีน ชาวอีสาน และไทยใหญ่แบ่งหน้าที่การทำงาน แรงงานพวกหนึ่งเป็นพวกเร่ร่อนไม่มีทางเลือกในชีวิตและยังติดฝิ่นอีกด้วย การมาสร้างอุโมงค์เปิดโอกาสให้การสูบฝิ่นไม่ผิดกฏหมายจึงทำให้เป็นที่ชื่นชอบ และมีกรรมกรขุดเจาะทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง โดยแบ่งกะเป็นผลัดแต่ละผลัดนั้นมีคนงานประมาณ 120 คนขุดเจาะอุโมงค์ทั้งสองฝั่ง
ในบันทึกของ เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ วิศวกรใหญ่ ระบุว่าการสร้างทางรถไฟช่วงนี้ใช้คนงานจีนทำงานเกี่ยวกับดิน ส่วนการขุดเจาะอุโมงค์ใช้คนงานจากภาคอีสาน เนื่องจากคนงานจีนไม่ยอมเข้าไปทำงานในอุโมงค์ เพราะมีความเชื่อว่าในอุโมงค์มีภูตผีปีศาจสิงอยู่ จึงเกิดความหวาดกลัว ส่วนคนงานผูกเหล็กทำผนังเป็นชาวไทยใหญ่
การเข้าไปทำงานกลางป่าทึบ ทำให้คนงานต้องพบกับอุปสรรคและภัยอันตรายมากมาย ทั้งโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคมาลาเรียที่คร่าชีวิตคนงานอยู่เป็นระยะๆ อีกทั้งโรคปอดที่เกิดจากการสูดฝุ่นหินเข้าไปขณะทำงาน ควันพิษจากการระเบิดหิน ในขณะที่เวลากลางคืนก็มักมีเสือมาคาบเอาคนงานไปกินเป็นอาหาร รวมทั้งม้าที่นำมาไว้ใช้แรงงาน จึงต้องทำห้างบนต้นไม้ผลัดเปลี่ยนกันรักษาความปลอดภัยในยามค่ำคืน
หลังจากอุโมงค์ขุนตานสำเร็จมีการวางรางเรียบร้อย จึงเปิดเดินรถไฟสายเหนือตลอดถึงเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2464 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เป็นเส้นทางรถไฟที่ใช้เวลาถึง 3 รัชกาลด้วยกัน

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงและภาพ :
- สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
- การรถไฟแห่งประเทศไทย
- 50+
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จัดกิจกรรมเสวนาเนื่องในนิทรรศการ "ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา" ครั้งที่ ๒ เรื่อง “เล่าเรื่องการเก็บรักษาฟิล์มกระจกและภาพเก่า” เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
โดยมี วิทยากรรับเชิญ คือ เอนก นาวิกมูล และ อรรถดา คอมันตร์ มาบรรยายและให้ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับฟิล์มกระจก
นี่เป็นเพียงภาพรวมของกิจกรรมเสวนาเท่านั้น หากท่านใดสนใจรับชมฉบับเต็ม สามารถรับชมได้ที่ Facebook : @สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ครับ
สามารถชมผ่านทาง Youtube ได้ที่ >> https://youtu.be/CWZ7p9-GuVk
art4d READ:
Through the Royal Eyes

นิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา นำเสนอภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ภาพที่ถ่ายโดยพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงผู้ติดตามและข้าราชบริพาร จากฟิล์มกระจกจำนวน 102 ภาพ แบ่งเรื่องราวทั้งหมดออกเป็น 4 ส่วน ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 – 7 โดยให้ชื่อต้นแต่ละส่วนว่า “บรรพ” ตั้งแต่ ปฐมบรรพ ไปจนถึง จตุตถบรรพ เล่าเรื่องตั้งแต่การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ไปจนถึงช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของสยามในช่วงท้ายที่สุดของนิทรรศการ
อ่านต่อได้ทาง
https://art4d.com/2020/08/through-the-royal-eyes
นิทรรศการจัดแสดงที่ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563 และสามารถชมนิทรรศการในรูปแบบ Virtual Tour ได้ที่ https://virtualarchives.nat.go.th/glassplate/


Glass Plate Negatives: Stories That Transcend Time, features works of photographs taken by members of the Royal Family and their entourage. Captured on glass film, the 102 photographs tell stories, which are split into 4 different parts, encompassing the period between the reign of King Rama 4 and King Rama 7.
Read more on
https://art4d.com/en/2020/08/through-the-royal-eyes
The exhibition held at the main gallery, 8th Floor, Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, 10 July 2020 - 20 September 2020, or visit the Virtual Tour at: https://virtualarchives.nat.go.th/glassplate/en/


Text: Nutdanai Songsriwilai
Photo courtesy of BACC

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

🔹กรมศิลปากร โดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติส่วนภูมิภาค ร่วมกับภาคีเครือข่ายหอจดหมายเหตุ
🔹ขอเชิญชม นิทรรศการออนไลน์ “หอจดหมายเหตุ: พลังแห่งสังคมความรู้ (Archives: Empowering Knowledge Societies)” นิทรรศการเนื่องในวันแห่งการสถาปนาหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (18 สิงหาคม)
🔹ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน - 31 สิงหาคม 2563
🔹ทาง➡️ www.nat.go.th นิทรรศการ หัวข้อ หอจดหมายเหตุ : พลังแห่งสังคมความรู้ หรือ https://virtualarchives.nat.go.th หรือสแกน QR code

🔹ทำความรู้จักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอจดหมายเหตุแห่งชาติส่วนภูมิภาค ภาคีเครือข่ายหอจดหมายเหตุ
🔹ชมเอกสารจดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ
➡️ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง www.nat.go.th และ facebook สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้มีการเก็บและอนุรักษ์ฟิล์มกระจกจำนวนมากที่สุดในเมืองไทยและในเอเชียอาคเนย์ นั่นคือราว 39,000 แผ่น เป็นฟิล์มกระจกที่ส่งผ่านเรื่องราวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 จนมาถึงห้วงเวลาปัจจุบัน และหนึ่งในสมบัติล้ำค่านั้นคือ “ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ” ซึ่งได้รับยกย่องขึ้นทะเบียนจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ให้โลกได้รู้ว่า ณ ดินแดนทางตะวันออกแสนไกลแห่งนี้มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม มีอัตลักษณ์ และตัวตนเช่นไร
Sarakadee Lite ชวนเปิดกล่องไม้สักที่ใช้บรรจุแผ่นฟิล์มมาตั้งแต่แรกเริ่ม เหมือนเป็นการนั่งไทม์แมชชีนย้อนอดีตสู่ครั้งที่กล้องถ่ายภาพเริ่มเข้ามาบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองไทย พร้อมชมขั้นตอนการอนุรักษ์ จากแผ่นฟิล์ม สู่ห้องเก็บรักษาที่ควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นอย่างเคร่งครัด และการเผยแพร่ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์เพื่อให้เรื่องราวในอดีตได้ออกไปสู่การรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ดังที่ ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวถึงคุณค่าของฟิล์มกระจกไว้ว่า
“เมื่อภาพหนึ่งภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้มากกว่าพันคำ ภาพฟิล์มกระจกหนึ่งภาพจึงมีคุณค่าให้ได้ศึกษามากมาย ทั้งเรื่องการพัฒนาการของบ้านเมือง การแต่งกาย วัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน สุดแล้วแต่ความสนใจของแต่ละคนว่าจะมองเห็นอะไรบนแผ่นฟิล์มกระจกนั้นๆ”
ติดตามเรื่องราวดีๆ กับ Sarakadee Lite ได้อีกใน youtube.com/sarakadeelite

#ฟิล์มกระจก
📍สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับมูลนิธิสิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอเชิญร่วมชมและเรียนรู้เรื่องราวในอดีตของประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึง รัชกาลที่ ๗ ผ่านภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ในนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา”
โดยภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ กล่องที่ ๑ – ๒๔ และ ๕๐ – ๕๒ ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๐๐ ภาพ บอกเล่าเรื่องราวของประเทศไทยในอดีต รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๗ ทั้งนี้ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิพร้อมผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาพถ่ายโบราณร่วมจัดทำคำบรรยายและคัดเลือกภาพถ่าย จำนวน ๒๐๕ ภาพ นำมาจัดพิมพ์หนังสือในชื่อ “ฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์” เล่ม ๒ ซึ่งมีเนื้อหาแบ่งเป็น ๒ หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ ๑ พระนคร แบ่งเป็น ๑๒ หมวดรอง ได้แก่ พระราชวังและวัง พระราชพิธี ศาสนสถาน แม่น้ำลำคลองถนน ยานพาหนะ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงมหรสพ อาคารพักอาศัย อาคารสำนักงาน ห้างร้าน และอาคารเบ็ดเตล็ด และหมวดที่ ๒ หัวเมือง แบ่งเป็น ๔ หมวดรอง ได้แก่ พระราชวัง เสด็จประพาส เสด็จตรวจราชการ และโบราณสถาน ต่อมา ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้นำภาพถ่ายจากหนังสือ ร่วมกับภาพถ่ายชุดอื่น ไปออกแบบเนื้อหาและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการภายใต้ชื่อ “ฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา” รวมทั้งสิ้น ๑๐๒ ภาพ แบ่งเป็น ๔ ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ ๑: ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ส่วนที่ ๒: ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา เป็นภาพวิถีชีวิตที่ธรรมดาเป็นกิจวัตรของผู้คนในกรุงเทพฯ ให้บรรยากาศของความสุขสงบ เรียบง่ายของผู้คนและบ้านเมือง
ส่วนที่ ๓: ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นบทบาทของชาวตะวันตกที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗
ส่วนที่ ๔: จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการรับอิทธิพลของชาติตะวันตกที่ทำให้สยามประเทศขณะนั้นเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

⏰เปิดให้ประชาชนเข้าชม ตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม – ๒๐ กันยายน ๒๕๖๓ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
สถานที่ : ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร
และสามารถรับชมนิทรรศการเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ได้ทาง www.nat.go.th ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ www.nat.go.th หรือ facebook สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. ๐ ๒๒๘๒ ๘๔๒๓ ต่อ ๒๒๘

#สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ #กรมศิลปากร
x

องค์กรของรัฐ อื่นๆใน เขตดุสิต (แสดงผลทั้งหมด)

กลุ่มพัฒนาระบบบริหาร กรมศิล รถพิพิธภัณฑ์สัญจร กรมศิลปาก สำนักวรรณกรรมและประวัติศาส คลินิกกฎหมายและศูนย์ให้บริ ฝ่ายบริการการศึกษา วิทยาลัย กองสื่อสารองค์การ มหาวิทยาล Sport Rmutp - งานกีฬามหาวิทยาลัยเทคโ กองวิชาการและพัฒนาคณาจารย์ Feflic กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สำนักงานการฌาปนกิจสงเคราะห ศูนย์นิรภัย ครูผู้ช่วย กศน. กลุ่มฝึกอบรมสายงานสนับสนุน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภ