
24/08/2023
ทลายความเชื่อเก่า สร้างความเชื่อใหม่ HIV ถ้าเข้าใจอยู่ร่วมกันได้
“ความเชื่อ” ในความหมายของพจนานุกรม คือ การยอมรับว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นความจริง แล้วถ้าวันนึงคุณรู้ว่า
คนที่อยู่ข้างคุณมีเชื้อ HIV คุณจะยอมรับความจริง แล้วใช้ชีวิตร่วมกันได้หรือไม่?
หรือเพราะความเชื่อผิด ๆ ที่ถูกสั่งสมมายาวนานว่าเชื้อเอชไอวี หรือ เอดส์ เป็นสิ่งที่น่ากลัว หรือไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกัน หรือภาพทรงจำเก่า ๆ ว่าต้องมีร่างกายทรุดโทรม
แต่จริง ๆ แล้วผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี กลับมีร่างกายแข็งแรงไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่เหมือนเมื่อก่อน จนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครบ้างที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี บางทีเขาอาจจะมีชีวิตยาวนานกว่าเราด้วยซ้ำ และเราไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่าใครมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ
ซึ่งนั่นเป็นเพราะความเชื่อผิด ๆ ที่สังคมเคยสร้างไว้ หรือถูกตีกรอบให้ยอมรับแบบนั้นหรือเปล่า ดังนั้น เรามา “ทลาย” ความเชื่อเหล่านั้นไปด้วยกัน
เอชไอวี “ไม่ได้” ติดง่าย
เพราะเชื้อเอชไอวี ติดต่อผ่าน 3 ช่องทางเท่านั้น คือ 1) การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เช่น ไม่ใส่ถุงยางอนามัยตอนมีเพศสัมพันธ์ ใช้ถุงยางอนามัยแต่ถุงแตก รั่ว หลุด ช่องทางนี้พบมากถึง 97% นับเป็นช่องทางหลักของการติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดด้วย
2) ทางเลือด จากการใช้เข็มและอุปกรณ์ฉีดยาร่วมกัน พบได้ประมาณ 3% ของผู้ติดเชื้อ และ 3) การถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งในปัจจุบันแม่ฝากครรภ์เร็ว และเข้าสู่ระบบการดูแลรักษารับยาต้านไวรัสเร็ว ช่วยลดการถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้มาก ซึ่งพบการติดเชื้อเอชไอวีจากช่องทางนี้น้อยกว่า 0.5%
ดังนั้น การกินข้าวด้วยกัน ว่ายน้ำร่วมกัน เรียนห้องเดียวกัน ใช้รถสาธารณะ หรือกิจกรรมอื่นใดที่นอกเหนือจากที่ว่า ตอบได้ชัดเจนว่าไม่มีโอกาสที่จะทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้เลย จึงเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่เราสามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้
เอชไอวี “รักษาได้” ด้วยยาต้านไวรัส
หากผลตรวจพบว่ามีเชื้อเอชไอวี ก็เข้าสู่ระบบการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีทันที (same day ART) และฟรีด้วย ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเจ็บป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส
เมื่อกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลา และสม่ำเสมอ จะช่วยกดปริมาณไวรัสในกระแสเลือดได้สำเร็จ จนตรวจไม่พบปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือด (undetectable) ไม่ถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปยังผู้อื่น (untransmittable) หรือ U=U ตรงนี้สามารถวางแผนการมีครอบครัวหรือลูกด้วยวิธีธรรมชาติได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์
หากผลตรวจไม่พบเชื้อจะได้รับคำปรึกษาและความรู้ที่ถูกต้องในการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี การป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี กินยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ หรือ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) การใช้ยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อ หรือ PEP (Post-Exposure Prophylaxis) เป็นต้น
นอกจากนี้ระบบการรักษา “ฟรี” ทุกสิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์ประกันสุขภาพ (บัตรทอง) และสิทธิ์สวัสดิการข้าราชการ สามารถรักษาได้ฟรีทุกโรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั่วประเทศ สำหรับสิทธิประกันสังคม สามารถรักษาฟรีในโรงพยาบาลที่ระบุตามสิทธิ
เอชไอวี “ตรวจฟรี” และ ตรวจได้ด้วยตัวเองก็มีนะ
คนไทยทุกคน มีสิทธิ์ตรวจเอชไอวี ฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งควรตรวจหลังมีพฤติกรรมเสี่ยงประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันผลตรวจก็รู้ผลได้ภายในวันเดียว ไม่ต้องรอนาน
แต่ยังมีทางเลือกสำหรับตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยใช้ชุดตรวจที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. มีแบบเจาะเลือดปลายนิ้วมือ ทราบผลตรวจได้ภายใน 1-20 นาที และชุดตรวจด้วยการตรวจจากสารน้ำในช่องปาก
ทราบผลอ่านได้ภายใน 15-20 นาที สามารถหาซื้อในร้านขายยาบางแห่ง เรียกได้ว่า สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ทุกกลุ่มวัย
เอชไอวี “อยู่ร่วมกันได้”
สุดท้ายหากเราทลายความเชื่อเก่า แล้วมาร่วมสร้างความเชื่อใหม่ HIV ถ้าเข้าใจอยู่ร่วมกันได้ ลองเปิดใจ ยอมรับสิ่งใหม่ เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ปราศจากการตีตราและเลือกปฏิบัติ
#เอดส์เป็นเรื่องปกติ