ความคิดเห็น
“….ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอมาว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิดขอเพียงแต่ให้เขาได้มีโอกาสฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็น” (พระราชดำริการจัดตั้งตอนหนึ่งของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 11 สิงหาคม 2532 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา)
ต้นกำเนิดของศูนย์ศิลปาชีพ เกิดขึ้น ณ โรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา ในปี 2522 และได้พัฒนาการดำเนินการอย่างก้าวหน้า โดยในปี 2553 ได้ยกสถานะเป็น สถาบันสิริกิติ์ เมื่อผลิตภัณฑ์และผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้ทรงพระกรุณาฯ จัดตั้งร้านจิตรลดา เพื่อจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์เป็นการถาวร ปัจจุบันมี 12 สาขา กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทรงขยายงานศิลปาชีพไปแล้วถึง 141 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน เช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ศูนย์ศิลปาชีพบ้านแม่ตา จ.ลำปาง
ที่มา : สยามรัฐออนไลน์
#ทรงพระเจริญ #แม่แห่งชาติ
#90พรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
#ด้วยรักแห่งแผ่นดิน
#รักประเทศไทย #เราภาคภูมิใจเมืองไทยนี้ดี
ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมมหาราช บรมนาถบพิตร เคยรับสั่งถึงเรื่องการว่าจ้างแรงงานกับผู้ถวายงานทุกคนว่า
“…อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมาก ๆ ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน เพราะการที่ทำให้คนยากจนในชุมชนนั้น ๆ มีงานทำ พวกเขามีรายได้ มีเงินเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องไปเป็นโจร ไม่ต้องไปเป็นขโมย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ไปเผาป่า ตำบลนั้น อำเภอนั้น จังหวัดนั้น สิ่งนั้นก็คือกำไรของแผ่นดิน…”
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก เพจ:พระลาน
ปีติ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เฝ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือที่ทรงเป็นบรรณาธิการ
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เพจเฟซบุ๊ก HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya โพสต์ว่า วันที่ 13 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นการส่วนพระองค์ พร้อมทั้งทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2023 เล่มใหม่ล่าสุดที่พระองค์ทรงเป็นบรรณาธิการบริหาร พร้อมทั้งทูลขอพระราชทานพระราชนิพนธ์คำนำ หนังสือประกอบนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
เมื่อ 14 ก.ค.65 ภายหลังพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงฤดูร้อนพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เพื่อทรงเครื่องสำหรับฤดูฝน ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา จากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ไปยังวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา
ครั้นเสด็จฯ ถึง เสด็จเข้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนพรรษาในตู้ ทรงถวายพุ่มเทียน ธูปเทียนแพ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน บูชาพระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ ทรงคม ทรงถวายพุ่มเทียนและธูปเทียนแพ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชา พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระรูปสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงคม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปบนฐานชุกชี ทรงถวายพุ่มเทียนและธูปเทียนแพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา 50 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคม ทรงวางพวงมาลัยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร ทรงถวายพุ่มเทียนและธูปเทียนแพ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวารสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงคม เสด็จลงจากฐานชุกชี
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธชินสีห์ แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงถวายพุ่มเทียนและธูปเทียนแพแด่พระธรรมวชิรญาณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงคม ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ ประทับพระราชอาสน์
ครั้นพระธรรมวชิรญาณถวายอดิเรกจบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จออกจากพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปยังพระเจดีย์หลังพระอุโบสถ เสด็จเข้าภายในพระคูหาพระเจดีย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายพุ่มเทียน แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ทรงคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ออกจากพระเจดีย์ไปยังประตูหน้าพระอุโบสถ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ กลับพระที่นั่งอัมสถาน พระราชวังดุสิต
🇹🇭💙🙏 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ 🙏💙🇹🇭
ที่มา : "มติชน"
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยัง "สวนสมรมคนกรุง @ทุ่งบางเขน" สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทรงปลูกต้นไม้ร่วมกับคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา ปี 2565 โอกาสนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยเสด็จร่วมด้วย สำหรับต้นไม้ทรงปลูกในวันนี้ มี 5 ต้น ได้แก่ ต้นทุเรียนเมืองนนท์ ต้นมะกอกน้ำ ต้นชะมวง ต้นมะดัน ต้นมะตาด ส่วนคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตคณะวนศาสตร์ จำนวน 250 คน ร่วมปลูกไม้ป่ายืนต้น 16 ชนิด จำนวน 38 ต้น เช่น กระท้อน เงาะโรงเรียน มะยม ขนุน หมากสง ผักเหลียง และไม้พื้นล่าง 10 ชนิด จำนวน 420 ต้น ได้แก่ เร่วหอม ผักกูด ดีปลี ขมิ้น กระชาย ชะพลู พริกไทย ขิง ข่า กะลา
สวนสมรมคนกรุง @ทุ่งบางเขน เป็นสวนต้นแบบแห่งใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ สมรม เป็นภาษาถิ่นภาคใต้ แปลว่า รวมผสมผสาน สวนสมรม จึงเป็นสวนขนาดเล็กที่ปลูกแบบผสมผสาน เน้นปลูกพืชป่าดั้งเดิมกินได้ ที่พบได้ในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง มีทั้งไม้ยืนต้นและพืชล้มลุก สวนแห่งนี้ยังสร้างความร่มรื่น ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และกรองฝุ่นละอองในเขตเมือง ในอนาคตจะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านการให้น้ำและปุ๋ยด้วยระบบดิจิทัลมาใช้ในการจัดการสวนฯ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางด้านการเกษตรอัจฉริยะ
โอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิชาการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ได้แก่ นิทรรศการ "ศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนกแอ่นกินรัง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์" ตั้งอยู่ที่สถานีวิจัยและฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นการศึกษาวิจัยด้านนกแอ่นกินรัง และพัฒนาอาคารต้นแบบทำเป็นบ้านนกแอ่นกินรังภายใต้แนวทางการปฏิบัติที่ดี เพื่อถ่ายทอดความรู้ ฝึกอบรม และศึกษาดูงานแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป
นิทรรศการ "โครงการขยายผลการดำเนินงานเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้โดยเครือข่ายครูมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี" เพื่อเสริมความเข้มแข็งทางวิชาการตามความเชี่ยวชาญของครูผู้ได้รับรางวัลสำคัญต่าง ๆ ผ่านกระบวนการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย และขยายผลสู่ครูคนอื่นต่อไป ช่วยพัฒนาคุณภาพครูในวงกว้างและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย
นิทรรศการ "โครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย" เป็นการคิดพัฒนานวัตกรรมการศึกษา เพื่อเป็นสื่อเสริมทางเลือกให้แก่ครูผู้สอนภาษาไทยนำไปใช้พัฒนานักเรียนในโรงเรียนโครงการพระราชดำริ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในถิ่นทุรกันดาร
นิทรรศการ "โครงการสนับสนุนงานในโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (การพัฒนาศักยภาพการปลูกเลี้ยงวานิลลาในประเทศไทย)" ปัจจุบันสามารถพัฒนาสายพันธุ์ให้เจริญเติบโตได้ในภาคกลางของประเทศไทย ในอนาคตมีเป้าหมายที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการขยายพันธุ์และการปลูกเลี้ยงวานิลลาในเชิงการค้าต่อไป
เวลา 10.43 น. เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลตรี โอสถ ภาวิไล เลขาธิการคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย นำคณะนักกีฬา และเจ้าหน้าที่ เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานพรก่อนเดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2565 ที่เมืองสุราการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
ขอขอบคุณข่าวในพระราชสำนักจาก : ช่อง 7 และขอบคุณภาพจาก : เพจ ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันอาสาฬหบูชา และทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ส่วนพระเศียร) ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโครงการต้นแบบที่มีการก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ ทำการเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล มีถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดัน ขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง มีอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำบาดาลและจุดบริการน้ำดื่มสะอาด พร้อมสร้างแนวท่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในตำบลหนองฝ้าย เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี ประชาชนได้รับประโยชน์ จำนวน 58,000 คน 11,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตรได้รับประโยชน์ จำนวน 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ได้ประมาณ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ยังส่งน้ำไปยังตำบลอื่นๆ ในอำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้มีน้ำต้นทุนสำหรับทำระบบประปาหมู่บ้านได้อย่างเพียงพอและมั่นคง ในการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนสืบไป
ขอขอบคุณ : กรมทรัพยากรน้ำบาดาล
#ทรงพระเจริญ
ขอบคุณภาพจาก:เพจพระลาน
'กรมพระศรีสวางควัฒน'ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ ช่วยเหลือประชาชน สรรพสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ
ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในการวางรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพอนามัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยทรงเน้นย้ำเสมอว่า “การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนจะบรรลุผลได้...ก็ต่อเมื่อประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี” อีกทั้งยังมีพระเมตตาไปถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยง และสัตว์ไร้ที่พึ่งให้ปลอดจากโรคติดต่อร้ายแรงที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตมาสู่คนได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ออกหน่วยแพทย์พระราชทาน โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และออกหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2554 ระหว่างวันที่ 11 - 13 มิถุนายน 2565
สำหรับการออกหน่วยแพทย์พระราชทานในครั้งนี้ โปรดให้ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โรงพยาบาลสารภี โรงพยาบาลแม่ออน และหน่วยงานราชการต่างๆในพื้นที่ร่วมออกหน่วยให้บริการตรวจรักษาพยาบาล พร้อมให้คำแนะนำในการป้องกันโรคและดูแลสุขภาพทั่วไปแก่ประชาชนที่มารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยมีขั้นตอนการเข้ามาตรวจรักษา เริ่มตั้งแต่ การลงทะเบียน ซักประวัติ คัดกรองผู้ป่วย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต การวินิจฉัยโรค และการจ่ายยาตามอาการของโรค โดยตลอดทั้ง 3 วันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามาขอรับบริการตรวจรักษาโรคทั่วไป รวม 158 คน ปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ที่พบ อาทิ โรคกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรคระบบประสาท โรคระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
จากนั้น ทรงพระดำเนินไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ พร้อมกับทรงงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ ที่บูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงพยาบาลสัตว์ทิพย์พิมาน ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยทรงผ่าตัดทำหมันสุนัขร่วมกับทีมสัตวแพทย์อาสาจุฬาภรณ์ภายในรถผ่าตัดทำหมันเคลื่อนที่ของโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพของสุนัขแต่ละตัวอย่างใกล้ชิด ผ่านจอมอนิเตอร์ที่แสดงผลอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ความดันโลหิต รวมถึงอุณหภูมิของร่างกาย เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัขระหว่างดำเนินการผ่าตัด ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
สำหรับการดำเนินกิจกรรมออกหน่วยสัตวแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ยังได้รับการสนับสนุนจากทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ในส่วนของท้องถิ่น ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องของจังหวัด ต่างพร้อมใจกันปฏิบัติงานสร้างพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า สนองพระปณิธานในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยผ่านการดำเนินกิจกรรมสัญจรอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการจัดกิจกรรมอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าแก่ ประชาชนเจ้าของสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจรวมถึงวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง อีกทั้งยังให้บริการตรวจรักษา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ รวมถึงการผ่าตัดทำหมันสุนัขและแมว เพื่อคุมกำเนิดประชากรของสัตว์เลี้ยง สัตว์จรจัด และเป็นการควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ ตลอดทั้ง 3 วัน มีประชาชนในพื้นที่และจังหวัดข้างเคียงนำสุนัขและแมวไปรับบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ารวมจำนวน 291 ตัว และ มีการผ่าตัดทำหมันให้กับสุนัขและแมว รวมจำนวนทั้งสิ้น 449 ตัว
นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ทรงมุ่งมั่นในการรณรงค์ส่งเสริมการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอันเป็นหัวใจหลักสำคัญเพื่อนำไปสู่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนชาวไทย ด้วยการสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพทั้งของคนและสัตว์ ให้อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป