16/01/2023
Update!! 25 ข้อคำถามที่พบบ่อย (FAQ) ในสัปดาห์ที่สองของการประเมิน ITA 2566
(ข้อมูล 9 - 14 ม.ค. 2566)
#### หมวดข้อคำถามเกี่ยวกับแบบวัด EIT ####
1.
Q: การนำเข้าข้อมูล EIT ในปีนี้ จากการประชุมชี้แจ้งทราบว่าให้นำเข้าเฉพาะจำนวนประมาณการ ไม่ต้องนำเข้ารายชื่อนี้ มีข้อสงสัยว่าในระบบยังมีให้ admin นำเข้าข้อมูลอยู่ เลยเกิดข้อสงสัยว่าในส่วนนี้ยังต้องนำเข้าข้อมูลที่เป็นเทมเพลตรายชื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกหรือไม่ครับ?
A: ฟังก์ชันการนำเข้าข้อมูลรายชื่อในหน้าการนำเข้าข้อมูล EIT เป็นฟังก์ชันการดำเนินงานเดิมเมื่อปีที่ผ่านมาและได้มีการออกแบบเผื่อไว้ใช้งาน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปี 2566 นี้หลักเกณฑ์การประเมินฯ กำหนดให้หน่วยงานระบุเฉพาะจำนวนประมาณการของผู้มาติดต่อหรือรับบริการของหน่วยงานตลอดปีงบฯ 66 ดังนั้น หน่วยงานแค่ระบุจำนวนแล้วกดส่งข้อมูลขออนุมัติต่อผู้บริหารได้เลยครับ โดยไม่ต้องใช้งานฟังก์ชันการนำเข้าข้อมูลรายชื่อดังกล่าวครับ
——————————————
2.
Q: เนื่องจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ของกรมบางส่วนอยู่ในสำนักงานที่ต่างประเทศ และการตอบแบบวัด EIT ต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ในการรับรหัส OTP เพื่อเข้าสู่แบบวัด EIT คำถามคือ กลุ่มคนอยู่ต่างประเทศสามารถเข้าทำแบบวัด EIT ได้หรือไม่?
A: เนื่องจากการตอบแบบวัด EIT ในปีนี้ได้มีการเปลี่ยนวิธีการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าตอบจากการระบุหมายเลขประจำตัวประชาชนมาเป็นการระบุรหัส OTP ทางหมายเลขโทรศัพท์เพื่อให้กระบวนการจัดเก็บข้อมูลมีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น กรณีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ จะไม่สามารถรับรหัส OTP ทางโทรศัพท์มือถือได้
อย่างไรก็ตาม หากมีบุคคลใดที่พำนักอยู่ในต่างประเทศทั้งในกรณีที่เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในต่างประเทศ และในกรณีที่เป็นผู้มาติดต่อรับบริการที่พำนักอยู่ต่างประเทศ หรือกรณีที่เป็นชาวต่างชาติและต้องการประเมินหน่วยงานภาครัฐตามแบบวัด EIT ทั้ง 3 กรณีนี้ขอให้ติดต่อมายังสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ทาง Line: หรือ Facebook: ITAS NACC เพื่อสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสดำเนินการจัดเก็บข้อมูลโดยตรงต่อไป
——————————————
3.
Q: ในหน้าเมนูการนำเข้าข้อมูลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) ในระบบ ITAS ประเภทการติดต่อกับจัดการ หมายถึงอย่างไร?
A: ในส่วนนี้ท่านไม่ต้องดำเนินการใดๆ เป็นส่วนฟังก์ชันเดิมในปีที่แล้วที่ยังปรากฏอยู่ในระบบ ขอให้ระบุเพียงแค่ประมาณการจำนวนผู้มาติดต่อหรือรับบริการในปีงบ 66 จากนั้นส่งขออนุมัติต่อผู้บริหารได้เลยครับ
——————————————
4.
Q: รวบกวนสอบถามการรวบรวมข้อมูล EIT สมมุติหน่วยงานมีจำนวนประมาณการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกจำนวน 1,000 คน การเก็บข้อมูลคือหน่วยงานผู้รับการประเมินต้องดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ส่วนได้ส่วนเสียบภายนอกตอบให้ครบร้อยละ 10 ของจำนวนประมาณการก็คือ 100 คน และส่วนที่ 2 ผู้ประเมิน (สำนักงาน ป.ป.ช.) จะดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลร้อยละ 10 จากกลุ่มตัวอย่างของส่วนที่ 1 (จำนวน 100 คน) ซึ่งเท่ากับ 10 คน ใช่หรือไม่?
A: ใช่ครับ
*****************************
*****************************
#### หมวดข้อคำถามเกี่ยวกับแบบวัด IIT ####
5.
Q: จำนวน IIT ปีนี้ระบุมาว่า รวมถึงพนักงานจ้างเหมาด้วย ต่างจากปีที่แล้วหรือไม่ หรือจ้างเหมาต้องอยู่ใน EIT?
A: ขอเรียนว่าการประเมิน IIT จะหมายความตามที่ปรากฏ กล่าวคือ บุคลากรจ้างเหมาบริการที่จ้างโดยงบประมาณของหน่วยงาน หากปฏิบัติงานต่อเนื่องกันเกินกว่า 1 ปี คือ ปฏิบัติงานก่อนวันที่ 1 มกราคม 2565 จะถูกนับเป็น IITของหน่วยงาน
——————————————
6.
Q: กรณีการตอบแบบวัด IIT หากหน่วยงานมีเจ้าหน้าที่จ้างเหมาบริการ แล้วต่อมาเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้บรรจุเป็นข้าราชการของหน่วยงาน เช่นนี้เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ต้องตอบแบบวัด IIT หรือไม่ กล่าวคือ ให้นับรวมระยะเวลาการปฏิบัติงานตั้งแต่ตอนเป็นจ้างเหมาบริการหรือไม่ หรือให้นับระยะเวลาตั้งแต่บรรจุเป็นข้าราชการ?
A: หากเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 1 ปี ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งหรือระดับ สามารถตอบแบบวัด IIT ได้ ทั้งนี้ พนักงานจ้างเหมาบริการที่เป็นการว่าจ้างบุคคลโดยหน่วยงานและปฏิบัติงานมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน สามารถตอบแบบวัด IIT ได้ครับ
——————————————
7.
Q: พนักงาน Outsource ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) ได้หรือไม่?
A: พนักงาน Outsource ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน เช่น แม่บ้าน รปภ. ฯลฯ ไม่ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT) แต่พนักงานจ้างเหมาบริการที่ ปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า 1 ปี และเป็นการว่าจ้างโดยหน่วยงานต่อบุคคลนั้นโดยตรง ถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (IIT)
*****************************
*****************************
#### หมวดข้อคำถามเกี่ยวกับแบบวัด OIT ####
9.
Q: ข้อ o3 อำนาจหน้าที่ ถ้ามีการแสดงข้อมูลอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตาม พ.ร.บ. ไว้ในหน้าเว็บไซต์อยู่แล้ว พร้อมกับในหน้าเดียวกันนั้นได้มีการแนบลิงก์ดาวโหลด พ.ร.บ. ไว้ด้วย ไม่ทราบว่าตรงตามเกณฑ์หรือไม่?
A: การแสดงข้อมูลอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามข้อ o3 ไว้ทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทาง ราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 (2) ดังนั้น หน่วยงานจึงควรระบุหรือสรุปอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย โดยไม่ใช่การนำกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานทั้งฉบับมาใช้ตอบ เนื่องจากประชาชนทั่วไปไม่สามารถทราบได้ว่าอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานถูกระบุไว้ในส่วนใด
ทั้งนี้ หากหน่วยงานจะ copy อำนาจหน้าที่ตามข้อกฎหมายลงในเว็บไซต์สามารถทำได้เช่นกัน (ไม่ขัดกับหลักเกณฑ์) แต่ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่สามารถอ่านภาษากฎหมายแล้วจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า หลายหน่วยงานได้มีการนำข้อความจากกฎหมายมาสรุปเป็นหัวข้อและมีการเรียบเรียงข้อความใหม่ให้อ่านได้โดยง่าย ดังนั้น จึงขอเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการเรียบเรียง/สรุปอำนาจหน้าที่ลงในเว็บไซต์ให้สามารเข้าถึงข้อมูลและเข้าใจข้อมูลได้โดยง่าย ส่วนการจัดทำลิงก์ดาวน์โหลดกฎหมายที่ระบุถึงอำนาจหน้าที่เผยแพร่ไว้ในหน้าเดียวกันทำได้หรือไม่นั้น ขอตอบว่าสามารถทำได้ครับ แต่จะต้องมีการระบุถึงอำนาจหน้าที่แยกต่างหากไว้ในหน้าเว็บไซต์หน้านั้นด้วยนะครับ
——————————————
10.
Q: ตามข้อ o6 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งองค์ประกอบด้านข้อมูลกำหนดให้ แสดงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือการปฏิบัติงานของหน่วยงาน ทางกรมฯ ได้เผยแพร่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานไว้บนเว็บไซต์กรมฯ ไม่ทราบว่าสอดคล้องตามองค์ประกอบด้านข้อมูลที่กำหนดไว้หรือไม่?
A: "ข้อ o6 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง" ให้แสดงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานหรือการปฏิบัติงานของหน่วยงานไว้ที่หน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงานแต่ต้องเข้าถึงได้จากเว็บไซต์หลักด้วย ทั้งนี้ จุดมุ่งหมายสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานคือ การที่ประชาชนหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูข้อมูลกฎหมาย ข้อบังคับ คำสั่ง ฯลฯ ได้โดยสะดวก ดังนั้น หน่วยงานจึงควรมีการจัดหมวดหมู่ของกฎหมายโดยคำนึงถึงลักษณะการเข้าใช้งานของประชาชนด้วยนะครับ (หากเป็นไปได้) โดยอาจจำแนกกฎหมายตามภารกิจการดำเนินงานหรือประเภทบริการของหน่วยงานของท่าน นอกจากนี้ การจัดทำช่องทางการค้นหากฎหมายที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยให้ผู้ที่ค้นหาข้อมูลได้รับความสะดวกเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย การดำเนินการตามข้อ o6 นี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 7 และมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 56 เรื่อง ให้หน่วยงานราชการนำ "มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ (Government Website Standard) ที่ สรอ. กำหนดไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์
——————————————
11.
Q: ข้อ o8 Q&A หน่วยงานสามารถใช้ web board ในการตอบข้อนี้ได้ไหม?
A: หน่วยงานสามารถใช้เว็บบอร์ดในการตอบแบบวัด OIT ข้อ o8 ได้ แต่เว็บบอร์ดการตอบข้อซักถามดังกล่าวจะต้องเข้าถึงได้จากหน้าเว็บไซต์หลักของหน่วยงานจึงจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
——————————————
12.
Q: ข้อ O10 นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หากเคยประกาศแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2565 สามารถนำมาตอบข้อ O10 ได้หรือไม่?
A: หากดูตามองค์ประกอบด้านข้อมูลของข้อ o10 นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขด้านเวลาไว้ ดังนั้นจะประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในปีนี้หรือปีที่ผ่านมาก็ได้ครับ
——————————————
13.
Q: แนวทางการตอบหรือตัวอย่าง ข้อ O10 นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล?
A: "ข้อ o10 นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" สำนักงาน ป.ป.ช. ได้สอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อสอบถามถึงแนวทางการจัดทำประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือแบบฟอร์มมาตรฐานเพื่อให้หน่วยงานนำไปปรับใช้ในการดำเนินการ โดยได้รับแจ้งว่าการจัดทำนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้มีการกำหนดฟอร์มมาตรฐานไว้ แต่ได้มีการกำหนดแนวทางเบื้องต้นไว้ โดยสามารถดูแนวทางการจัดทำนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม https://www.mdes.go.th/law เมนูกฎหมายในความรับผิดชอบของกระทรวง แล้วเลื่อนลงไปที่
>> พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
>> เอกสารสั่งการ/เอกสารอื่น ๆ
>> แนวทางการดำเนินการในการแจ้งวัตถุประสงค์ และรายละเอียดในการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
เมื่อสอบถามถึงตัวอย่างการจัดทำ "นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ที่น่าสนใจและสามารถเป็นต้นแบบให้หน่วยงานได้นำไปปรับใช้ได้ ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้แนะนำตัวอย่างที่ดีคือ ประกาศนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของ ปตท. และสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัล เป็นต้น สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่าที่แอดมินเคยสืบค้นเห็นว่ากรณีของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ทำได้ครบถ้วนและน่าสนใจ ลองดูตัวอย่างตามลิงก์นี้นะครับ
https://www.buriramcity.go.th/index.php/mnu-privacypolicy
——————————————
14.
Q: ขออนุญาตสอบถามข้อ o13 รายงานผลการดำเนินงานประจำปี จะทราบได้อย่างไรว่ามีเนื้อหาสอดคล้องกับองค์ประกอบด้านข้อมูลที่กำหนด?
A: ข้อ o13 รายงานผลการดำเนินงานประจำปี มีองค์ประกอบข้อมูลที่ท่านสามารถเช็คได้ด้วยตนเองดังนี้ (Checklist)
1. ต้องแสดงผลการดำเนินงานตามแผนดำเนินงานประจำปี พ.ศ. 2565
2. ต้องมีการระบุุถึงข้อมูลผลการดำเนินการโครงการหรือกิจกรรม (กี่โครงการก็ได้)
3. ต้องมีการระบุุถึงผลการใช้จ่ายงบประมาณ (สรุปหรือรายโครงการ/กิจกรรมก็ได้)
3. ต้องมีการระบุุถึงปัญหา/อุปสรรค (ต้องมีหัวข้อนี้ หากไม่มีปัญหา ให้ระบุว่าหน่วยงานไม่มีปัญหา/อุปสรรคใดๆในการดำเนินการ)
4. ต้องมีการระบุุถึงข้อเสนอแนะ (ต้องมีหัวข้อนี้ หากไม่มีข้อเสนอแนะ ให้ระบุว่าหน่วยงานไม่มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาใดๆ)
ลองตรวจเนื้อหาในรายงานของท่านตาม Checklist นี้ได้เลยหากมีเนื้อหาครบทุกข้อก็เป็นไปตามองค์ประกอบด้านข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
——————————————
15.
Q: ข้อ o17 รายงานผลการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการ ต้องทำเป็นเล่มรายงานตามตัวอย่าง หรือทำเป็น Infographic แผ่นเดียวได้ไหมคะ?
A: องค์ประกอบด้านข้อมูลกำหนดไว้ว่าหน่วยงานจะต้องแสดงรายงานผลและต้องมีการแสดงผลการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการ เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งคู่มือการประเมิน ITA ไม่ได้มีการกำหนดองค์ประกอบหรือเค้าโครงหรือรูปแบบของการรายงานไว้ ดังนั้น หน่วยงานจะรายงานผลในูปแบบเล่มรายงาน เอกสารรายงาน ข้อมูลรายงานในหน้าเว็บเพจ หรือแผนภาพรายงานข้อมูลผลการสำรวจความพึงพอใจก็ได้ครับ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานควรดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดทำรายงานผลการสำรวจความพึงพอใจในการให้บริการ โดยในการรายงานผลควรมีการระบุถึง ความเป็นมา หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ ขอบเขต วิธีการศึกษา แนวคิดและทฤษฎีที่ใช้ในการออกแบบการสำรวจ กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มตัวอย่างที่จัดเก็บข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล ผลการสำรวจความพึงพอใจ สรุปผลและข้อเสนอแนะ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาและประชาชนที่เข้าถึงข้อมูลได้รับประโยชน์และได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน
——————————————
16.
Q: ข้อ o31 ประกาศเจตนารมณ์นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่?
A: ในหลักเกณฑ์การประเมิน ITA 2566 และในเอกสารของสำนักงาน ป.ป.ท. เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ การประกาศนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ "ไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานจะต้องจัดทำประกาศนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่เป็นภาษาอังกฤษ" ดังนั้น หน่วยงานสามารถพิจารณาจัดทำหรือไม่จัดทำประกาศฉบับภาษาอังกฤษก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริบทและภารกิจการดำเนินการของแต่ละหน่วยงาน
——————————————
17.
Q: ข้อ o32 การสร้างวัฒนธรรม No gift policy สามารถให้รองผู้บริหารสูงสุดดำเนินการกิจกรรมในลักษณะการประชุม สัมมนา เพื่อถ่ายทอดหรือมอบนโยบายฯ แทนผู้บริหารสูงสุดได้หรือไม่?
A: ในเอกสารแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ - การประกาศนโยบาย No gift policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ฉบับปรับปรุงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกอบกับคู่มือการประเมิน ITA 2566 ไม่ได้มีการกำหนดองค์ประกอบด้านข้อมูลบังคับไว้ว่าการดำเนินกิจกรรมสร้างวัฒนธรรม No gift policy ต้องเป็นผู้บริหารระดับใด ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจะเป็ผู้บริหารสูงสุดหรือรองผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายก็ได้
——————————————
18.
Q: ข้อ o33 สามารถทำเป็นรูปแบบข่าวกิจกรรม หรือต้องเป็นรูปแบบเอกสารรายงานอย่างเดียว?
A: ข้อ o33 รายงานผลตามนโยบาย No Gift Policy จะต้องจัดทำตามแบบฟอร์ม "แบบสรุปรายงานตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่" ที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด จากนั้นเสนอผู้บังคับบัญชาและเผยแพร่ไว้ทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสามารถจัดทำข่าวกิจกรรมได้ แต่จะไม่สามารถนำมาตอบแบบวัด OIT ข้อ o33 ได้ เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าให้เป็นไปตามแนวทางที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนด
——————————————
19.
Q: ข้อ o33 รายงานผลตามนโยบาย No Gift Policy ตามแบบฟอร์ม "แบบสรุปรายงานตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในสังกัด" หมายถึงเฉพาะกรณีการรับมูลค่าของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้รับเฉพาะกรณีมีมูลค่าเกิน 3,000 บาทหรือไม่ หรือการดำเนินการตามข้อนี้ หมายความถึงของขวัญหรือประโยชน์อื่นใดทุกกรณี ขอทราบความชัดเจนเรื่องขอบเขต "นโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่" ?
A: แอดมินได้ประสานกองป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ท. เพื่อขอทราบแนวทางการดำเนินการแล้ว มีรายละเอียดดังนี้
การรายงานผลตามแบบฟอร์ม
1) แบบรายงานการรับของขวัญและของกำนัลตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่
2) แบบสรุปรายงานตามนโยบาย No Gift Policy จากการปฏิบัติหน้าที่ (ข้อ o33 รายงานผลตามนโยบาย No Gift Policy)
ให้รายงานเฉพาะ "กรณีการรับของขวัญหรือของกำนัลจากการปฏิบัติหน้าที่" เท่านั้น (ดูความหมายของ "การปฏิบัติหน้าที่" ได้เพิ่มเติมที่เอกสารของสำนักงาน ป.ป.ท. )
ส่วนในกรณีที่เป็นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา (รวมถึงกรณีที่รับทรัพย์สินหรือ ประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท) ให้ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 "โดยไม่ต้อง!! รายงานกรณีการรับของขวัญหรือของกำนัลโดยธรรมจรรยา" ลงในแบบรายงาน 2 ข้อข้างต้น
——————————————
20.
Q: สอบถามเกี่ยวกับการรายงานการรับของขวัญฯตามข้อ o33 ไม่ทราบว่าได้มีการกำหนดไว้หรือไม่ว่าใครต้องเป็นผู้รายงานและต้องรายงานผู้บริหารระดับใด?
A: ในเอกสารแนวทางการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปประเทศ - นโยบาย No gift policy จากการปฏิบัติหน้าที่ ฉบับปรับปรุงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้กำหนดให้ผู้รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานจะต้องรายงานผลการดำเนินการให้ "ผู้บริหารสูงสุด" ขององค์กรได้รับทราบ และการรายงานให้เป็นไปตามแบบฟอร์มที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนดครับ
——————————————
21.
Q: ข้อ 039 ประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ เกณฑ์แจ้งไว้ว่าให้แสดงประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้อกำหนด (ถ้ามี) หากหน่วยงาน จัดทำประมวลฯ เป็น info และเผยแพร่บนเว็บไซต์หลัก จะเพียงพอตามหลักเกณฑ์หรือไม่?
A: หน่วยงานต้องแสดงประมวลจริยธรรมเป็นหลักก่อน เนื่องจากหลักเกณฑ์การประเมินกำหนดไว้ให้ดำเนินการ ส่วนการจัดทำ Infographic ไม่ได้กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การประเมินฯ แต่หากทำได้เป็นส่วนเสริมที่ดีมากและจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรอย่างยิ่ง ซึ่งหากหน่วยงานได้จัดทำขึ้นจะช่วยดึงดูดให้บุคลากรภายในหน่วยงานเห็นและเข้าใจได้โดยง่าย รวมถึงเกิดการกระจายและส่งต่อข้อมูลเป็นวงกว้าง
——————————————
22.
Q: ข้อ o40 (1) การจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาตอบคำถามทางจริยธรรมหรือคณะทำงานขับเคลื่อนเรื่องจริยธรรม เนื่องจากส่วนราชการมีคำสั่งคณะกรรมการป้องกันฯ และส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรม แต่งตั้งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงานจริยธรรมอยู่แล้ว และปัจจุบันคณะกรรมการยังคงดำเนินการอยู่ สามารถใช้คำสั่งดังกล่าวตอบข้อ o40 (1) ได้หรือไม่?
A: ข้อ o40 การจัดตั้งทีมให้คำปรึกษาฯ หรือคณะทำงานขับเคลื่อนจริยธรรม ตามองค์ประกอบด้านข้อมูลที่กำหนดไว้ในคู่มือการประเมิน ITA กำหนดให้เป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ดังนั้น หากยึดตามองค์ประกอบในคู่มือฯ หน่วยงานจะต้องมีการจัดตั้งในปีงบประมาณนี้นะครับ โดยอาจเป็นการเสนอขอทบทวนคำสั่ง องค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ขึ้นมาใหม่ให้มีความครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น
——————————————
23.
Q: ในคู่มือ ITA ข้อ o40 (2) แนวปฏิบัติ Dos & Don'ts ภาษาอังกฤษ ถูกต้องตามนี้ใช่หรือไม่?
A: คำว่า "Dos & Don'ts" ใช้เป็นรูปพหูพจน์ตามที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดได้เลยครับ เนื่องจากข้อควรทำและไม่ควรทำมีหลายประการครับ
——————————————
24.
Q: ข้อ o41 การประเมินจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขอสอบถามความชัดเจนที่ ก.พ. ทำแนวปฏิบัติออกมาแล้ว จะให้หน่วยงานของรัฐต้องทำการประเมินพฤติกรรมทางจริยธรรมเอง โดยจัดทำแบบประเมินเอง หรือไม่อย่างไร และจะมีชี้แจงจาก ก.พ. หรือไม่ รวมถึงมีตัวอย่างการดำเนินการหรือไม่?
A: สำนักงาน ก.พ. และสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ร่วมกันกำหนดเค้าโครงการจัดทำรายงานตามข้อ o41 การประเมินจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานที่เข้าร่วมการประเมิน ITA สามารถนำไปประกอบการพิจารณาปรับใช้ในการรายงานได้ตามความเหมาะสม (ไม่ได้บังคับให้ต้องจัดทำตามเค้าโครงที่กำหนด) ซึ่งองค์ประกอบตามเค้าโครงการจัดทำรายงานในแต่ละข้อจะช่วยทำให้การรายงานผลตามข้อ o41 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่สำนักงาน ก.พ. ได้กำหนดไว้และช่วยให้การรายงานผลมีองค์ประกอบด้านข้อมูลครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมินที่กำหนด
สามารถดาวน์โหลดเค้าโครงรายงานการประเมินจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ o41 ได้แล้ววันนี้ที่ระบบ ITAS หัวข้อเอกสารดาวน์โหลดครับ ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะร่วมกับสำนักงาน ก.พ. ดำเนินการถ่ายทำคลิปวีดีโอเพื่อชี้แจงรายละเอียดต่อไป คาดว่าจะเผยแพร่ในช่วงปลายเดือนมกราคม 66 นี้
*****************************
*****************************
#### หมวดข้อคำถามเกี่ยวกับการใช้งานระบบ ITAS ทั่วไป ####
25.
Q: กรณีเปลี่ยนตัวผู้บริหารเนื่องจากหมดวาระ และเป็นผู้บริหารที่เป็นผู้อนุมัติตอบข้อมูลในระบบITAS
จะเปลี่ยนชื่ออย่างไร โดยใช้รหัสเดิม?
A: การเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนตัวของผู้บริหาร สามารถใช้รหัสของผู้บริหาร Login เข้าไปได้ จากนั้นไปที่เมนูแก้ไขข้อมูลส่วนตัว บริเวณมุมขวาบนของระบบ ITAS จากนั้นแก้ไขข้อมูลส่วนตัวของผู้บริหาร ทั้งนี้ หน่วยงานควรแก้ไขข้อมูลส่วนตัวที่สามารถติดต่อได้จริง เผื่อกรณีฉุกเฉินที่ไม่สามารถติดต่อแอดมินของหน่วยงานได้ ทางสำนักงาน ปปช. จะประสานไปยังช่องทางการติดต่อผู้บริหารของหน่วยงานของท่านที่บันทึกไว้ในระบบ ITAS
*****************************
*****************************
ติดต่อสอบถามประเด็นการประเมิน ITA ที่ท่านสงสัยกับสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ได้โดยตรงทาง Line Official ITA พิมพ์ค้นหา Line ID: หรือสอบถามสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดได้ทาง Line Open Chat การประเมิน ITA ในพื้นที่จังหวัดของท่าน
สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส
สำนักงาน ป.ป.ช.
วันที่ 16 มกราคม 2566
#มาขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อเติบโตไปสู่สังคมแห่งความโปร่งใสไปด้วยกัน