
06/02/2023
สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ต.โคกสะบ้า และ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงาน
ทางด้านนายสมโชค เชยชื่นจิตร นายก อบต.โคกสะบ้า เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประมาณ 30 ปี มีฝายกั้นน้ำรั่วซึมเพราะก่อสร้างมานาน ในช่วงฤดูแล้งพบปัญหาน้ำที่รั่วและน้ำแห้ง ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำ ในฤดูฝนน้ำก็จะท่วม เพราะฝายเก็บน้ำไม่สามารถเก็บน้ำได้ ทาง อบต.โคกสะบ้า ได้ทำหนังสือขอสนับสนุนโครงการจากสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ จนได้รับการพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ แต่จากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความเสียหายป่าสาคูที่เกิดขึ้น ไม่มากขนาดนั้น ทางผู้รับจ้างได้มีการขยายทางออกไปยาวกว่า 400 เมตร ต้นสาคูที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงประมาณ 22 ต้น นอกนั้นจะเป็นต้นเล็กที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ และได้ทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า โครงการดังกล่าวนอกจากจะเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง การสนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ การแก้ปัญหาน้ำท่วม และการนำน้ำมาทำระบบประปาหมู่บ้าน ส่วนต้นสาคูที่เสียหายนั้นจะมีการปลูกขึ้นทดแทนอย่างแน่นอน
ในขณะที่นายณัติวิทย์ ปราบแทน ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้ผลกระทบ กล่าวว่า ตนเองก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะต้นสาคูที่อยู่ในพื้นที่ของตนเองได้รับผลกระทบ แต่ตนเองก็ยินดี เพราะต้องการให้ทางโครงการได้ดำเนินการต่อให้แล้วเสร็จ เพราะเมื่อคิดเปรียบเทียบแล้ว เพื่อความเจริญของหมู่บ้าน และเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมของคนในหมู่บ้านตนเองยินดีให้ความร่วมมือ
นางกศิรินทร์ พลนาค ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่ 1 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำ (ผู้รับผิดชอบโครงการฯ) ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การเสนอข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือ โครงการฯ ดังกล่าว เป็นโครงการตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาการดำเนินการตามสัญญาจ้าง เริ่มสัญญาวันที่ 9 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญาวันที่ 4 กันยายน 2566 ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกในพื้นที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำรวม 3 ช่วง
ช่วงที่ 1 เป็นการขุดลอกความยาว 420 เมตร ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ
ช่วงที่ 2 เว้นไว้คงสภาพเดิม ซึ่งเป็นป่าสาคู ความยาว 957 เมตร
และช่วงที่ 3 กำลังดำเนินการ ความยาว 1,079 เมตร
วัตถุประสงค์โครงการเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภค บริโภค ให้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการ เป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูก เป็นแก้มลิง รับน้ำในช่วงน้ำหลากบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับพื้นที่ ซึ่งในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการจำเป็นต้องระบายน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำเดิมออก เพื่อขุดลอกตะกอนดินตามรูปแบบการก่อสร้าง และเพื่อมิให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าวในขณะก่อสร้างและท่วมพื้นที่ในอนาคต ผู้รับจ้างจึงทำการเปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ และเป็นการขุดตามร่องน้ำสาธารณะเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการขุดต้นสาคู ให้น้อยที่สุด ความยาว 446 เมตร กว้าง 3 เมตร และได้ขุดต้นสาคูที่ขวางทางน้ำซึ่งงอกขึ้นบริเวณกลางร่องน้ำสาธารณะออก 22 ต้น ก่อนการดำเนินการขุดผู้รับจ้างได้ประสานการขุดกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลโคกสะบ้า และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะบ้า เพื่อรับทราบและเห็นชอบให้ดำเนินการ เนื่องจากจะช่วยระบายน้ำจากโครงการเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ชาวบ้านในพื้นที่รับผลประโยชน์ 4,000ไร่ 500 ครัวเรือน
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ 2566 เวลา ๑๔.๐๐ น. นายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอนาโยง ได้นัดผู้มีส่วนได้ส่วนเสียประชุม ที่ห้องปฏิบัติการนายอำเภอ เพื่อหาข้อยุติในกรณีมีผู้ร้องเรียนว่ามีการก่อสร้างโครงการ และทำลายระบบนิเวศป่าสาคูระยะทาง ประมาณ 300-400 เมตร และขอให้อำเภอนาโยงส่งเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ชาวบ้านผู้ร้องเรียน กำนันตำบลโคกสะบ้า ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๓ และหมู่ที่ ๑๐ ตำบลโคกสะบ้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗ ตำบลนาข้าวเสีย ผู้อำนวยการส่วน และช่างควบคุมงาน สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ ๘ ตัวแทนผู้รับจ้าง ปลัดอำเภอนาโยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะบ้า นายอำเภอนาโยง ซึ่งเป็นประธานในการประชุมได้แจ้งที่ประชุมว่าได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็น จุดท้ายน้ำ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ถ้าไม่มีการเปิดทางน้ำก็จะส่งผลให้น้ำท่วมได้ และได้สอบถามชาวบ้านบริเวณดังกล่าวว่าได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ แยกออกได้เป็น ๒ ประเด็น คือ ประเด็นที่ ๑ ชาวบ้านบริเวณนั้นเห็นชอบให้ขุดทางน้ำ เนื่องจากหากน้ำมากจะส่งผลให้น้ำท่วมอาสินพื้นที่การเกษตร ประเด็นที่ ๒ การพัฒนาและการอนุรักษ์จะต้องดำเนินการควบคู่กัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง ส่วนของผู้ร้อง และอีกส่วนหนึ่ง (เป็นเสียงส่วนใหญ่) ซึ่งเห็นด้วยยินยอมให้เปิดทางน้ำได้
ผู้แทนสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ได้ชี้แจงแนวทางการก่อสร้างโครงการฯ และขั้นตอนการดำเนินโครงการ ให้ที่ประชุมทราบว่าก่อนการดำเนินการโครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่บริเวณโครงการ ทั้งของตำบลโคกสะบ้า และตำบลนาข้าวเสีย จำนวน 81 คน ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการ และก่อนดำเนินการ ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่รับทราบ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากขณะดำเนินการ ผู้รับจ้างได้เปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ เพื่อต้องการระบายน้ำให้สามารถดำเนินการโครงการได้ หน่วยงานไม่ได้มีเจตนาที่จะทำลายต้นสาคูแต่อย่างใด และขอยืนยันว่าแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วก็ต้องขอโทษแทนผู้รับจ้างด้วยเช่นกัน และขอร่วมหาทางออกเพื่อหาข้อยุติ ผู้ร้องเรียนได้แจ้งที่ประชุมว่าไม่ได้ติดใจการดำเนินการก่อสร้างโครงการแต่อย่างใด และต้องขอโทษกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยที่มีข่าวเกิดขึ้น แต่ในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ขุดไป ๔๔๖ เมตร บริเวณนอกขอบเขตโครงการที่ได้ดำเนินการขุดต้นสาคูไปนั้น จะมีแนวทางฟื้นฟูอย่างไร ที่ประชุมได้หาข้อสรุปร่วมกันโดยมีข้อสรุปดังนี้
1. ผู้รับจ้างจะไม่มีการขยายเพื่อระบายน้ำ นอกขอบเขตบริเวณโครงการพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มเติม และการดำเนินการจะสื่อสารทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น
2. ปลูกหญ้าแฝกทดแทนบริเวณที่ได้ขุดท้ายน้ำ ระยะทาง 446 เมตร เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ
3. เมื่อโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะปลูกต้นสาคูทดแทนหรือไม่ หรือจะปลูกต้นไม้ ชนิดใด จะประชุมชุมชน เพื่อขอมติเสียงส่วนใหญ่ แล้วแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันดำเนินการ
4. หน่วยงานจะกำกับดูแลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด