05/06/2025
การพบร่องรอยข้าวปลูก จากมนุษย์โบราณ ๒,๓๐๐ ปี พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ
🙏🏻อรุณสวัสดิ์เช้าสดใสครับทุกท่านครับ🙏🏻
ข้าวคืออาหารหลักของเราชาวไทย แล้วก็เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศมาอย่างยาวนานเลยใช่ไหมครับ?
ข้าวไม่ได้เป็นแค่อาหาร แต่ยังผูกพันกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อของเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษเลยครับ
แต่มีใครเคยสงสัยกันไหมครับว่า... แล้วข้าวที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้เนี่ย มนุษย์เราเริ่มปลูกกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่? โดยเฉพาะในประเทศไทยของเราเอง ทุกท่านรู้ไหมครับว่า เราเริ่มปลูกข้าวกันตอนไหน?
วันนี้ เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ 5 มิถุนายน #ชวนอ่านนิตยสารศิลปากร ขอนำพาทุกท่านร่วมย้อนเวลาไปไขปริศนาการปลูกข้าวในอดีตกับเรื่องราวการค้นพบสุดอลังการที่จังหวัดชัยภูมิ
ผ่านบทความ การพบร่องรอยข้าวปลูก จากมนุษย์โบราณ ๒,๓๐๐ ปี พื้นที่จังหวัดชัยภูมิ: ข้อมูลใหม่จากการศึกษาทางชีววิทยาโบราณคดี
เขียนโดย พี่วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีชำนาญการ, สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร
จากนิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๗ ฉบับที่ ๖ พ.ย.-ธ.ค. ๒๕๖๗ ครับ
🎉 ครั้งแรกกับการค้นพบประวัติศาสตร์ข้าวไทยในดินแดนชัยภูมิ 🌾
เมื่อปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้เปิดหน้าประวัติศาสตร์บทใหม่ที่ แหล่งโบราณคดีโนนบ้านห้วยหัน 2 อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยชุมชนโบราณและมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก และแล้ว...การค้นพบที่ไม่เคยมีมาก่อนก็เกิดขึ้น!
การขุดค้นเผยหลักฐานชิ้นสำคัญ จากการขุดค้น เราได้พบ โครงกระดูกมนุษย์โบราณ 1 โครง ซึ่งถูกระบุอายุด้วยเทคนิคเรืองแสงความร้อนว่ามีอายุถึง 2,169 – 2,305 ปีที่แล้ว
🔬 เจาะลึกทางชีววิทยาโบราณคดี เพื่อไขปริศนาชีวิตของมนุษย์โบราณ
นักชีววิทยาได้เก็บตัวอย่างตะกอนดินจาก 2 จุดสำคัญ คือ บริเวณโครงกระดูก และพื้นที่ทำกิจกรรมของคนโบราณ นำมาวิเคราะห์อย่างละเอียดด้วย 3 วิธี:
1. การศึกษาละอองเรณู: ค้นหาหลักฐานจากละอองเกสรพืช
2. การศึกษาหินพืช: ตรวจหาอนุภาคซิลิกาที่พืชทิ้งไว้
3. การตีความสภาพแวดล้อมโบราณ: จากชนิดของพืชที่ค้นพบ
• พบร่องรอยข้าวปลูก (Oryza sativa L.) เป็นครั้งแรกในจังหวัดชัยภูมิ โดยพบติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ของโครงกระดูก ไม่ว่าจะเป็นสะโพกหรือหน้าท้อง
• เจอหินพืช (Phytolith) รูปแบบ Bulliform ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของใบข้าว (Oryza sativa L.) ในพื้นที่ทำกิจกรรม
• หลักฐานเหล่านี้ยืนยันชัดเจนว่า ข้าวมีอยู่จริงในแหล่งโบราณคดีโนนบ้านห้วยหัน 2 เมื่อประมาณ 1,625 – 2,305 ปีที่แล้ว! แม้จะยังไม่พบเมล็ดข้าวเป็นเม็ดๆ แต่ร่องรอยที่พบก็เพียงพอที่จะบอกว่า คนสมัยก่อนแถบต้นลำน้ำชี จังหวัดชัยภูมิ เค้าปลูกข้าวกันแล้วนะครับ! และจากการวิเคราะห์ล่าสุดยังพบว่าเป็น ข้าวพันธุ์ Indica ด้วยครับ
🏺 แกลบข้าวในภาชนะดินเผา: เคล็ดลับช่างปั้นโบราณ
การวิเคราะห์เศษภาชนะดินเผาก็ยังเผยความลับอีกอย่างว่าพบแกลบข้าวผสมอยู่ในเนื้อภาชนะ นี่แสดงให้เห็นว่าคนโบราณเค้าฉลาดมาก ๆ ในการใช้แกลบข้าวมาเป็นส่วนผสมเพื่อปรับปรุงเนื้อดินให้ปั้นภาชนะได้ง่ายขึ้น แต่ก็น่าเสียดายที่ยังระบุไม่ได้ว่าเป็นแกลบข้าวพันธุ์อะไรครับ
🪨เปิดกรุโครงกระดูก: วิถีชีวิตและพิธีกรรม
โครงกระดูกที่พบนี้อยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นลักษณะการฝังศพที่น่าสนใจ แถมยังมีการ ทุบภาชนะดินเผาและวางปูไว้ที่ปลายเท้าศพ คล้ายกับที่เคยพบที่แหล่งโบราณคดีโนนบ้านนางแดดเหนือครับ พร้อมกับศพยังพบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว เช่น ห่วงคล้องคอสำริด ขวานสำริด ถ้วยดินเผา และที่น่าสนใจคือ ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์กีบเท้าคู่ (อาจเป็นเก้ง) ที่ถูกวางเป็นของอุทิศให้ผู้ตายครับ
🗺️ หนองบัวแดง: ดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์นับพันปี
การค้นพบครั้งนี้ตอกย้ำให้เห็นว่า มนุษย์โบราณสมัยเหล็กในพื้นที่ต้นลำน้ำชี จังหวัดชัยภูมิ เมื่อกว่าสองพันปีที่แล้ว เค้าไม่ได้เป็นแค่นักล่าสัตว์หาของป่าอีกต่อไป แต่ได้พัฒนาไปสู่การเป็น เกษตรกรเพาะปลูกข้าว ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตดั้งเดิม🏞️ ด้วยภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ ล้อมรอบด้วยภูเขาถึง 3 ด้าน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอำเภอหนองบัวแดงถึงเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยเหล็กกว่า 32 แห่ง สมกับคำที่ว่า "อำเภอที่อุดมสมบูรณ์ทั้งน้ำ ข้าว ของป่า มานับพันปี" จริง ๆ ครับ
หากท่านใดสนใจอ่านเพิ่มเติมได้ ที
นิตยสารศิลปากร ปีที่ ๖๗ ฉบับที่ ๖ พ.ย.-ธ.ค. ๒๕๖๗ SILPAKORN JOURNAL Vol. 67 No. 6 November - December 2024
ลิงก์ ---> https://shorturl.asia/q9pR8
หรือสอบถามซื้อเป็นหนังสือได้ที่ ศูนย์หนังสือกรมศิลปากร เล่มละ 100 บาทครับ ใครสนใจสมัครสมาชิกสอบถามได้นะครับ
ขอบคุณภาพประกอบโพสต์สวย ๆ จาก TinTin Gallery อีกครั้งที่กรุณาแฟนเพจของเราด้วยดีเสมอมาครับ 🙏🏻
ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม โอกาสหน้ามีเรื่องใดน่าสนใจ จะหยิบยกมานำเสนอให้ทุกท่านร่วมอ่านกันครับ 😄
สวัสดีครับ 🙏🏻
#นิตยสารศิลปากร
#โบราณคดี
#ชัยภูมิ
#ข้าวโบราณ
#แหล่งโบราณคดีโนนบ้านห้วยหัน2
#ประวัติศาสตร์ไทย