
03/03/2022
ยุคแห่งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศของทวีปแอฟริกา
🛰 ทวีปแอฟริกายุคใหม่ สู่การแข่งขันด้านอวกาศ
.
รัฐบาลหลายประเทศในทวีปแอฟริกากำลังมุ่งสู่การแข่งขันด้านอวกาศ เพื่อมองหาวิธีการลดช่องว่างของความเท่าเทียมกันในการเชื่อมต่อสื่อสาร ด้วยปัจจัยความต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและราคาถูกที่เพิ่มสูงขึ้น
.
ประเทศในแอฟริกากำลังมองเรื่องของเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเชื่อมต่อสื่อสาร โดยได้รับแรงกระตุ้นจากรูปแบบการใช้ข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลในประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
.
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาความต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้พุ่งสูงขึ้นทั่วทั้งทวีปแอฟริกา จากผลกระทบของ COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงวิธีที่ชาวแอฟริกันใช้ข้อมูลอย่างมีนัยสำคัญ
.
ขณะนี้ผู้คนกำลังทำงานจากที่บ้าน ซึ่งมีจำนวนนักเรียนที่เรียนออนไลน์เป็นจำนวนมาก และจากกระแสของนวัตกรรมในเทคโนโลยีอวกาศได้แผ่ขยายไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกา ได้เพิ่มความต้องการในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
.
แต่ทว่า อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของแอฟริกาในปัจจุบันอยู่ที่ 39% เท่านั้น ทำให้ประชากรกว่า 60% ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตามที่ Caroline Kamaitha รองประธาน SES Networks Africa ได้กล่าวไว้ว่า รัฐบาลกำลังเร่งนำแนวทางที่ทำให้แน่ใจได้ว่าพลเมืองของพวกเขาจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตาที่พวกเขาต้องการ
.
Smart Africa Secretariat ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตร 32 ประเทศในแอฟริกา ได้กำหนดเป้าหมายขยายเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นสองเท่า โดยมุ่งหวังที่จะลดต้นทุนการใช้อินเทอร์เน็ตลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2568
.
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดด้านอวกาศของทวีปแอฟริกามีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย โดยทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุนต่างชาติ ต่างพยายามเพิ่มการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ตัวอย่างความสำเร็จเช่น เมื่อต้นเดือนมกราคม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Cape Peninsula ของแอฟริกาใต้ ได้เปิดตัวภารกิจดาวเทียมดวงที่สามสู่อวกาศ ด้วยจรวดที่ปล่อยจาก Cape Canaveral ในรัฐฟลอริดา ของสหรัฐอเมริกา
.
นับจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 ประเทศในแอฟริกา จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ เคนยา กานา โมร็อกโก อียิปต์ แอลจีเรีย ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และแองโกลา ได้ปล่อยดาวเทียมของตัวเอง จำนวน 32 ดวง ขึ้นสู่วงโคจร ตามข้อมูลจากรายงานประจำปีอุตสาหกรรมอวกาศของแอฟริกาปี พ.ศ. 2563
.
บริษัท Space in Africa ซึ่งเป็นบริษัทด้านสื่อ การวิเคราะห์ และที่ปรึกษา เผยข้อมูลให้เห็นว่าประเทศในแอฟริกาได้ใช้จ่ายเงินไปแล้วกว่า 146,700,000,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นหกพันเจ็ดร้อยล้านบาท) ในโครงการพัฒนาดาวเทียม โดยอย่างน้อยมีจำนวน 21 ประเทศ จาก 54 ประเทศ ในแอฟริกา มีโครงการด้านอวกาศหรืออยู่ในขั้นตอนของการสร้าง
.
บริษัท MzansiSat ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมรายแรกของแอฟริกาใต้ได้ประกาศแผนการที่จะให้บริการการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกับทุกประเทศในภูมิภาค
.
ส่วนบริษัท SpaceX ของ Elon Musk ได้พัฒนาอินเทอร์เน็ตผ่านกลุ่มดาวเทียมที่ชื่อว่า Starlink ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้บริการไปยังตลาดแอฟริกา โดยมีกำหนดเปิดตัวในช่วงต้น พ.ศ. 2565 ซึ่ง Starlink ได้เปิดตัวดาวเทียมในพื้นที่อื่นแล้วกว่า 1,500 ดวง และกำลังทดสอบการให้บริการในประเทศต่างๆ ของแอฟริกาอยู่ในปัจจุบัน
.
ด้านบริษัท SES Network เพิ่งเปิดตัวดาวเทียม O3b mPower ซึ่งเป็นดาวเทียมรุ่นต่อไป โดยมีแผนจะเปิดตัวดาวเทียมความเร็วสูง 11 ดวงในวงโคจร ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย โดยตั้งเป้าไปที่การเจรจากับรัฐบาลสำหรับความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อขยายการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ห่างไกล เพิ่มความยืดหยุ่นของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และสนับสนุนประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เช่น ชาด ไนเจอร์ และมาลี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันผ่านการเชื่อมต่อสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต
.
บริษัท Space in Africa คาดการณ์ว่าตลาดด้านอวกาศในทวีปแอฟริกาจะมีมูลค่าเกิน 10 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี พ.ศ. 2567 จากการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
.
เรียบเรียงโดย
ปริทัศน์ เทียนทอง
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
.
ข้อมูลข่าว
https://bit.ly/3HCBrSF
.
#NSTDASpaceEducation #Africa #SpaceRace #แอฟริกา #เทคโนโลยีอวกาศ #ดาวเทียม