23/03/2022
"วันนี้ในอดีต"
#ท้าวสุรนารี เมืองนครราชสีมา
วันนี้เมื่อ ๑๙๖ ปีก่อน “ท้าวสุรนารี” มีชัยชนะเหนือทัพลาวสำเร็จ จากการต่อสู้ปกป้องเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙
“ท้าวสุรนารี” (คุณหญิงโม) หรือ “ย่าโม” ที่ชาวไทยรู้จัก เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปี ๒๓๑๔ มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ได้แต่งงานสมรสกับ นายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระภักดีสุริยเดช” ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา “พระภักดีสุริยเดช” ได้เลื่อนเป็น “พระยาสุริยเดช” ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโม จึงได้เป็น “คุณหญิงโม”
ในปี ๒๓๖๙ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นรัชสมัยของ เจ้าอนุรุทธราช (เจ้าอนุวงศ์) ผู้ครองนครเวียงจันทร์ ได้ก่อการกบฏโดยยกกองทัพจะลงมาตีกรุงเทพมหานคร โดยเดินทัพมาอย่างเงียบ ๆ ให้กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ทราบความเคลื่อนไหวของทัพเจ้าอนุวงศ์เลย โดยมีกองทัพหน้าเดินทางไปทางทิศตะวันตกตรงไปยังเมืองสระบุรี (ปากเพรียว)
เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ เมื่อ “เจ้าอนุวงศ์” ยกกองทัพมาถึงเมืองนครราชสีมา ได้ตั้งมั่นฐานทัพ เนื่องจากเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่าน ก่อนจะเข้าโจมตีเมืองนครราชสีมา ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ นั้น พระยาปลัดทองคำ (พระยาสุริยเดช) ผู้รักษาเมืองไม่อยู่ เพราะไปปราบการจลาจลที่เมืองขุขันธ์ กองทหารของเจ้าอนุวงศ์ จึงตีเมืองนครราชสีมาได้โดยง่าย หลังจากนั้นได้กวาดต้อนกรมการเมือง ตลอดจนพลเมืองทั้งชายหญิงไปเป็นเชลย รวมถึง “คุณหญิงโม” และราชบริพารไปด้วย โดยมี เพี้ยรามพิชัย เป็นหัวหน้าควบคุม เหล่าเชลยออกเดินทางสู่เมืองเวียงจันทน์โดยผ่านเมืองพิมาย ส่วนเจ้าอนุวงศ์นั้น ยังตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองนครราชสีมา
เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๙ ในระหว่างการเดินทางเป็นเชลยศึกนั้น “คุณหญิงโม” ได้คิดแผนการกอบกู้อิสรภาพกับกรมการเมือง ซึ่งมีนางสาวบุญเหลือบุตรี หลวงเจริญ กรมการเมืองนครราชสีมา ได้มีส่วนร่วมให้ข้อปรึกษาอย่างใกล้ชิด “คุณหญิงโม” ได้มอบหมายให้นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเสมือนเป็นหลานของท่านเป็นผู้รับแผนการไปปฏิบัติ โดยใช้อุบายให้ชาวบ้านเชื่อฟังทหารผู้ควบคุม แกล้งทำกลัวเกรงและประจบเอาใจจนทหารของเจ้าอนุวงศ์ ตลอดจนเพี้ยรามพิชัย ซึ่งเป็นผู้ควบ คุมให้ความไว้วางใจและพยายามถ่วงเวลาในการเดินทาง แล้วลอบส่งข่าวถึงเจ้าเมืองนครราชสีมา เจ้าพระยากำแหงสงครามรามภักดี (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) และพระยาปลัดทองคำ
จนกระทั่งเดินทางมาถึง “ทุ่งสัมฤทธิ์แขวงเมืองพิมาย” ได้พักตั้งค่ายค้างคืนอยู่ ณ ที่นั้น “คุณหญิงโม” ได้ออกอุบายให้ชาวเมืองนำอาหารและสุรา ไปเลี้ยงดูผู้ควบคุมอย่างเต็มที่ จนทหารต่างก็เมามายไม่ได้สติ หมดความระมัดระวัง ครั้นถึงเวลาสองยามไปแล้วของวันที่ ๔ มีนาคม ๒๓๖๙ ตามแผนการที่กำหนดไว้ชาวนครราชสีมาก็แยกย้ายระดมยื้อแย่งอาวุธจากเหล่าทหารลาว และได้โห่ร้องขึ้นทำให้กองทัพเวียงจันทน์เกิดโกลาหล ส่วนนางสาวบุญเหลือขณะนั้นอยู่ใกล้ที่พักของเพี้ยรามพิชัย เมื่อได้ยินเสียงโห่ร้องก็ทราบทันทีว่าแผนการดังกล่าวได้เริ่มขึ้นแล้ว นางสาวบุญเหลือจึงได้โผตัวเข้าขว้าดาบของเพี้ยรามพิชัย โดยหมายล้างชีวิตให้ได้แต่ไม่สำเร็จ เพี้ยรามพิชัยว่องไวกว่าจึงฉวยดาบคืนได้ไปเสียก่อน นางสาวบุญเหลือก็ผละตัวถอยห่างออกมาทันที และวิ่งออกไปอย่างรวดเร็ว เพี้ยรามพิชัยวิ่งตามไป นางสาวบุญเหลือคิดขึ้นได้ว่ามีเกวียนบรรทุกดินดำจอดพัก และอยู่ไม่ไกลถ้าทำลายได้ก็จะได้ผลตามคำสั่ง “คุณหญิงโม” จึงวิ่งตรงไปยังกองไฟคว้าได้ฟืนจากกองไฟที่มีไฟติดอยู่วิ่งตรงเข้าหากองเกวียนบรรทุกกระสุนดินดำ เพี้ยรามพิชัยซึ่งในมือถือดาบจวนเจียนจะถึงนางสาวบุญเหลือ นางจึงตัดสินใจเอาดุ้นฟืนจุดเข้าที่ถุงดินปืนทำให้เกิดระเบิดขึ้นพร้อมกันในระยะเวลาอันสั้น ทำให้นางสาวบุญเหลือ เพี้ยรามพิชัย และผู้อื่นๆตลอดทั้งพาหนะที่อยู่บริเวณนั้นแหลกสลายกันหมดสิ้น บรรดาทหารลาวเวียงจันทน์ที่ถูกฆ่าตาย ชาวเมืองต่างช่วยกันลากลงไปทิ้งหนองน้ำ บริเวณหนองน้ำแห่งนี้ จึงเรียกว่า “หนองหัวลาว” แต่ยังมีทหารลาวบางส่วนที่หนีไปได้ เมื่อกองทัพลาวแตกสลายไปแล้ว “คุณหญิงโม” ได้รวบรวมชาวเมืองที่เหลืออยู่ช่วยกันใช้ทุ่งสัมฤทธิ์นี้ตั้งมั่นเป็นฐานทัพชั่วคราวอยู่ ณ ที่นั้น
ส่วนทหารลาวที่หนีตายได้รีบนำความไปแจ้งให้เจ้าอนุวงศ์ทรา เจ้าอนุวงศ์ ทราบข่าวก็ให้ เจ้าสุทธิสาร (โป้) บุตรคนใหญ่คุมกำลังทหารเดินเท้าประมาณ ๓,๒๐๐ คน และทหารม้าประมาณ ๔,๐๐๐ คน รีบรุดมาทำการปราบปรามทำการต่อสู้รบกันถึงตลุมบอน แต่ “คุณหญิงโม” โมก็จัดขบวนทัพ กรมการผู้ใหญ่คุมพลผู้ชาย ตัวคุณหญิงโมคุมพลผู้หญิงออกตี กองทัพพวก เวียงจันทน์แตกยับเยิน พอดีเจ้าอนุวงศ์ ได้ข่าวว่ากองทัพจากกรุงเทพฯ ยกขึ้นมาสนับสนุนช่วยชาวเมืองนครราชสีมา จึงต้องรีบถอนกำลังออกจากเมืองนครราชสีมา เมื่อ วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๖๙
วีรกรรมอันห้าวหาญเด็ดเดี่ยวของ “คุณหญิงโม” ทราบไปถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโมเป็น “ท้าวสุรนารี” เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๓๗๐ ขณะนั้นคุณหญิงโมมีอายุได้ ๕๗ ปี และพระราชทานเครื่องยศทองคำ
ที่มา โบราณนานมา
#ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพภาคที่1