14/05/2022
ARFF_AOT_VTBS คิดถึงเนื้อหาในตำราที่รุ่นพี่ และอาจารย์ได้สอนสั่ง (คำเตือน!!! โพสต์นี้สำหรับสายอ่าน หากจะเลื่อนผ่านขอ 1 หัวใจครับ)
ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่มีอุสาหกรรมทางด้านการบินขนาดใหญ่อีกประเทศหนึ่ง ได้มีอากาศยานประสบอุบัติเหตุถึง 2 เหตุการณ์ ในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ จะต้องมีการดำเนินการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุฯ และหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย จึงขอไม่ลงรายละเอียดในเนื้อหาของเหตุการณ์มากนัก หากแต่หวนคิดถึงเนื้อหาในตำราที่รุ่นพี่ และอาจารย์ได้สอนสั่งในช่วงที่เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของสนามบินใหม่ๆ ในเรื่องพื้นที่วิกฤต (Critical Area) และข้อมูลอื่นๆ ที่ได้เคยเรียนตอนเป็นนักเรียนดับเพลิงอากาศยานพาณิชย์ขั้นต้น (Basic Course)
ทางเพจขอหยิบยกในส่วนที่มีความตรงกับเนื้อหาของการดับเพลิงและกู้ภัยของสนามบินมาบอกเล่าสู่กันฟัง เพื่อเป็นประโยชน์
ข้อมูลที่ 1 : ท่าอากาศยานนานาชาติฉงชิ่งเจียงเป่ย์ มีชื่อย่อ ZUCK ในแบบฉบับของ ICAO และ CKG ในแบบฉบับของ IATA
และเป็นสนามบินที่มีระดับการป้องกันด้านการดับเพลิงและกู้ภัยระดับที่ 10 หรือ Category 10 ซึ่งเป็นระดับชั้นสูงสุดตาม ICAO ระบุ โดยมีทางวิ่ง (RUNWAY) จำนวน 3 ทางวิ่ง คือ 02L/20R ขนาด 3200x45 , 02R/20L ขนาด 3600x45 , 03 / 21 ขนาด 2800x45
ข้อมูลที่ 2 : จากคลิปที่เราได้เห็นกันจะสามารถคาดคะเนเรื่องความเร็วลมได้ คือ กลุ่มควันมีการพุ่งเป็นแนวตรง เอียงเล็กน้อย คาดการไว้ว่าจะมีความเร็วกระแสลมไม่เกิน 6 ไมล์/ชม. และต้นเพลิงแรกเกิดที่ตำแหน่งปีกใกล้บริเวณเครื่องยนต์หมายเลข 1 ที่หลุดออกไป
ข้อมูลที่ 3 : Airbus A319 (Category 6) มีความยาวลำตัว 33.8 เมตร และกว้างลำตัว 3.8 เมตร โดยประมาณ ภายนอกประกอบด้วยวัสดุหลายชนิดประกอบกัน (Composite Materials) ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของโลหะ และรองลงมาคือ Carbon Fiber Reinforced Plastic หรือที่รู้จักคือ CFRP ซึ่งมีคุณสมบัติที่แข็งแรงแต่แตกหักได้ง่ายตามที่ต้องการ (เป็นคุณสมบัติที่ดี) ซึ่งจะใช้เป็นวัสดุประกอบภายนอกของส่วนท้าย , ส่วนนอกของเครื่องยนต์, และชายปีก
ข้อมูลที่ 4 : Critical Area คือ พื้นที่วิกฤติเป็นแนวความคิดในการกู้ภัยที่ผู้โดยสารติดอยู่ในลำตัว ซึ่งมีความแตกต่างจากแนวคิดอื่น คือ แทนที่จะพยายามควบคุมและดับเพลิงทั้งหมด แต่เป็นการควบคุมเฉพาะพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ใกล้ลําตัวอากาศยาน ทั้งนี้เพื่อจุดมุ่งหมายในการป้องกันให้กับลําตัวอากาศยาน และรักษาสภาพให้ผู้ที่อยู่ภายในอากาศยานสามารถอยู่ได้ ขนาดของพื้นที่ที่ต้องควบคุมกําหนดขึ้นมาจากผลการทดลอง แบ่งเป็น
- พื้นที่วิกฤติทางทฤษฎี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จําเป็นต้องทําการควบคุมเพลิงโดยได้มาจากการคํานวณ
- พื้นที่วิกฤติทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เพลิงไหม้จริงรอบลําตัวอากาศยานที่เกิดอุบัติเหตุ
กล่าวคือ พื้นที่วิกฤติทางทฤษฎีนั้นใช้เพื่อบ่งบอกระดับชั้นของท่าอากาศยานและขนาดความรุนแรงของเพลิงที่จะเป็นอันตรายต่ออากาศยาน มิใช่ค่าเฉลี่ย ระหว่างค่าสูงสุดของขนาดของเพลิงที่กําลังลุกไหม้อากาศยานแต่ละแบบ พื้นที่วิกฤติทางทฤษฎีจะเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า โดยมีด้านหนึ่งเป็นความยาวสุดลําตัวอากาศยาน ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นความยาวที่แปรผันความยาวและความกว้างของลําตัวอากาศยาน (ถึงตรงนี้ดูภาพประกอบได้ครับ)
จากการทดลองที่ผ่านมาสามารถพิสูจน์ได้ว่าหากเครื่องบินที่มีลําตัวยาวเท่ากันหรือมากกว่า 20 เมตรในสภาพมีลมพัดด้วยความเร็วระหว่าง 16-19 กม./ ชม. ในทิศทางตั้งฉากกับลําตัวอากาศยาน พื้นที่วิกฤติทางทฤษฎีจะขยายออกไปจากลําตัวอากาศยานเป็นระยะ 24 เมตรทางด้านเหนือลม และ 6 เมตร ทางด้านใต้ลม สําหรับอากาศยานที่มีขนาดเล็กขยายออกทางข้างด้านละ 6 เมตร เพื่อให้การคิดคํานวณพื้นที่วิกฤติทางทฤษฎีได้สะดวกขึ้น จึงได้กําหนดตัวแทนค่าคงที่สําหรับอากาศยานที่มีความยาวของอากาศยานตลอดลําตัวที่ 12 เมตร ถึงมากกว่า 24 เมตร ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่วิกฤติทางทฤษฎี จําเป็นต้องป้องกันรักษามิให้บริเวณดังกล่าวเกิดเพลิงไหม้ มิฉะนั้นแล้วเพลิงจะไหม้ทะลุผิวเข้าไปภายในลําตัวอากาศยาน
ข้อมูลสรุป : ท่านใดอ่านมาถึงตรงนี้ช่วย แจ้งต่อ Admin ในช่องแสดงความคิดเห็นหน่อยครับ เพราะท่านคือนักอ่าน 100% เอาละเข้าเรื่องต่อครับ...... ต่อไปจะมีการคำนวณต่อแต่ละไม่ขอลงรายละเอียดด้านคำนวณนะครับ (สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ครับ) ซึ่งทาง ADMIN ได้คำนวณสำเร็จให้แล้ว คือ 761.6 ตารางเมตร สำหรับ Airbus A319 (Category 6) ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพลิงจะต้องฉีดสารละลายโฟม (Foam Solution) ในปริมาณอย่างน้อย 8,377.9 ลิตร จึงจะสามารถควบคุมเพลิงให้มีประสิทธิภาพได้ ซึ่งจากคลิปจะเห็นได้ว่า สนามบินมีรถดับเพลิงอากาศยานจำนวนมาก และเป็นรถที่มีประสิทธิภาพ (สังเกตุจากระยะฉีดป้อมปืน) จึงทำให้อากาศยานที่เกิดเหตุมีความเสียหายเพียงที่เห็นในสื่อ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกรถดับเพลิงอากาศยานกลุ่มแรกจะมีการฉีดก่อนถึงจุดเกิดเหตุเล็กน้อย (หรืออาจเกิดจากมีเศษวัสดุอากาศยานกีดขวางอยู่ก็เป็นไปได้) และจากที่เห็นอีกส่วนหนึ่งคือมีการฉีดน้ำจากป้อมปืนแบบโปรย (Rain Drop) ที่ 3 นาฬิกา ซึ่งคาดว่าจะเป็นการป้องกัน นั่นมีความหมายอีกนัยหนึ่งคือ มีกระบวนการสั่งการของ Leader Shift ที่มีประสบการณ์ และนี่คือสิ่งที่วิเคราะห์ในฐานนะผู้ปฏิบัติงานการดับเพลิงอากาศยาน ผ่านคลิปที่ได้ถูกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ ครับ
📌ติดตามพวกเรา
ติดตามสาระข่าวสารการเรียนรู้ "ด้านการดับเพลิง" จากทีม ARFF_AOT_VTBS ได้ทุกช่องทาง
Instagram - https://bit.ly/3uwsreW
Blockdit - https://bit.ly/34wrjgB
Twitter - https://bit.ly/360P0y9
Facebook - https://bit.ly/34ofpp